Select Page

ขับรถเที่ยวโครเอเชีย, สโลวีเนีย, บอสเนียฯ, มอนเตเนโกร ฉบับโหมโรง … ที่มาที่ไป, การเตรียมตัว, แผนการเดินทางและงบประมาณ

สารภาพตามตรงเลยนะ ตอนบอกคนรอบตัวว่าจะไปเที่ยวสี่ประเทศนี้ ผมต้องตอบคำถามเยอะเลย ส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประเทศเหล่านี้อยู่ตรงไหนของโลกมีอะไรให้เที่ยว บางคนก็แอบห่วงเพราะคุ้นว่าประเทศเหล่านี้เคยมีสงครามกลางเมือง …​ เอาล่ะล้อมวงเข้ามา ผมจะเล่าให้ฟังว่าทำไมผมจึงไปเที่ยวประเทศเหล่านี้ แน่นอนว่าผมไม่ได้บ้า ผมไม่ใช่สาย hard core ที่ไปลุยแบบเสี่ยงๆ … ตรงกันข้ามผมเลือกเที่ยวในที่ปลอดภัย (ขนาดโรมหรือปารีสผมยังเลี่ยงเลย) และแน่นอนว่าจุดหมายเหล่านี้ต้องสวยคุ้มค่าต่อการไปเยือน ไม่งั้นก็ไม่ใช่ “นายมด”

 

ใครมีเวลาน้อย อ่านไม่กี่บรรทัดต่อไปนี้เลย ผมสรุปแบบสั้นโคตรๆ ให้ฟังว่าแต่ละประเทศมีอะไรให้เที่ยว

  • โครเอเชีย – จุดหมายหลักในทริปนี้ มีอุทยานน้ำตกขนาดใหญ่ที่เดินเที่ยวได้ทั้งวันไม่เบื่อ, มีเมืองเก่าริมชายฝั่งที่หลังคาบ้านเรือนสีส้มตัดกับสีฟ้าของทะเลเอเดรียติก
  • สโลวีเนีย – ประเทศเล็กๆ ที่ธรรมชาติสวยมาก มีครบทั้งภูเขา, ทะเลสาบ,​ ลำธาร, ทุ่งดอกไม้, น้ำตก ฯลฯ  ผมยกให้วิวที่นี่น้องๆ สวิตเซอร์แลนด์เลย
  • บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา – ประเทศที่ผ่านพ้นภาวะสงครามกลางเมืองได้ไม่นานและเพิ่งเปิดประเทศ หลายอย่างจึงยังสดใหม่มาก ค่าครองชีพถูก  แหล่งท่องเที่ยวมีทั้งธรรมชาติและเมืองเก่าที่สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างยุโรปกับตุรกี
  • มอนเตเนโกร – ผมเที่ยวเพียงช่วงสั้นๆ ตามเมืองชายฝั่งทะเลของที่นี่ จะว่าไปก็เหมือนมินิโครเอเชีย แต่ค่าครองชีพถูกกว่า

มาถึงตรงนี้ยังไม่เห็นภาพใช่มั้ยว่ามันเป็นยังไง …​ไปดูแผนการเดินทางกับภาพที่เอามาให้ดูแบบน้ำจิ้มก่อนละกัน

 

แผนการเดินทาง  

ผมใช้เวลาเที่ยวสำหรับทริปนี้ 12 วัน (27 เม.ย. – 8 พ.ค. 61)  โดยมีแผนเดินทางตามนี้

27-Apr-18           ถึง Zagreb เดินทางเข้าสโลวีเนีย  แวะเที่ยว Valika planina ใกล้เมือง ​Kamnik แล้วไปพักที่ Bled

28-Apr-18           เที่ยว Zelenci, Jasna lake ที่เมือง Kranjska Gora ตอนเย็นกลับมาขึ้นจุดชมวิว Ojstrica ที่ Bled

29-Apr-18           แวะไป Vintgar Gorge จากนั้นไปเที่ยว Lake Bohinj  เดินทางไปพักที่ Rastoke ประเทศโครเอเชีย โดยแวะเที่ยวเมือง jubljana

30-Apr-18           Day trip ในอุทยาน Plitvice Lakes

1-May-18           เดินเล่นใน Rastoke แล้วเดินทางต่อไปเมือง Split แวะเที่ยวเมือง trogir

2-May-18           เดินเที่ยวเมือง Split จากนั้นเดินทางไป Dubrovnik แวะเที่ยวเมือง Omis

3-May-18           เที่ยวเมืองเก่า Dubrovnik

4-May-18           ออกเดินทางไปยังเมือง Kotor ประเทศมอนเตเนโกร  แวะเที่ยวเมือง Budva

5-May-18           เดินเที่ยวในเมืองเก่า Kotor และ Perast  จากนั้นเดินทางไปยัง  Mostar ประเทศบอสเนีย ฯ

6-May-18           เดินชมเมืองเก่า Mostar แวะเที่ยว Blagai แล้วเดินทางกลับไปยังประเทศโครเอเชีย เที่ยวและพักที่เมือง Zadar

7-May-18           ขับรถไปเที่วเมือง Pag แล้วเดินทางต่อไป Zagreb ช่วงบ่ายเดินชมเมือง Zagreb

8-May-18   เดินทางกลับ

ค่าใช้จ่าย

หลายคนมักคิดว่าเที่ยวยุโรปแพงแสนแพงต้องใช้เงินหลักแสน แต่เชื่อไหมครับผมไปมา 8 ครั้งยังไม่เคยมีครั้งไหนใช้เงินถึงแสนเลย  ครั้งนี้ก็เหมือนกันใช้เงินไปราว 51,000-52,000 บาทต่อคนโดยประมาณ  แบ่งค่าใช้จ่ายตามนี้

  • ค่าตั๋วเครื่องบิน Qatar airways  คนละ  21,700 บาท (ออกเดินทางจากภูเก็ต  เพื่อนที่ออกจากกรุงเทพฯ ถูกกว่านี้ราว 1 พัน)
  • ค่าเช่ารถ Benz vito 7 ที่นั่ง  45,500 รวมประกันแบบ full,ค่าธรรมเนียมสำหรับคนขับคนที่ 2 และค่าเอกสารเข้าบอสเนียฯ  เฉลี่ยคนละ 7,580 บาท
  • ค่าน้ำมันตลอด 12 วัน  9,500 บาท  เฉลี่ยคนละ 1,580 บาท
  • ค่าที่พักเฉลี่ยคนละ  9,200 สำหรับ 11 คืน
  • ค่าอาหารตลอดทริปทั้งซื้อมาทำเอง 16 มื้อและทานในร้านอาหาร 18 มื้อเฉลี่ยคนละ  7,500 บาท
  • ค่าทางด่วนและค่าจอดรถตลอดทริปรวม 4,700 บาท  เฉลี่ยคนละ 780 บาท
  • ค่าเข้าชม, ค่าทัวร์ เฉลี่ยคนละ 2,800 บาท

ทั้งนี้ไม่รวมค่าวีซ่าเพราะบางคนยังมีเชงเก็นวีซ่าเหลืออยู่

เอาล่ะ ทีนี้เชื่อหรือยังว่า 4 ประเทศนี้มันคุ้มค่าน่าเที่ยวขนาดไหน  มาดูเรื่องการเตรียมตัวดีกว่าว่าจะไปเที่ยวประเทศที่ยังไม่ได้โด่งดังมากเหล่านี้ ต้องเตรียมตัวเตรียมใจอะไรบ้าง

วีซ่าสำหรับเดินทางเข้าสโลวีเนีย, โครเอเชีย, บอสเนียฯ และมอนเตเนโกร

วีซ่าเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวสุดแล้วล่ะสำหรับทริป 4 ประเทศนี้  สรุปแบบย่อๆ ให้แบบนี้นะครับ

  • Slovenia ต้องใช้เชงเก็นวีซ่าเท่านั้น
  • Croatia ใช้วีซ่าของ Croatia หรือเชงเก็นวีซ่าแบบ multiple ที่ยังไม่หมดอายุ (สามารถเข้า Croatia ได้ตั้งแต่วันเริ่มต้นของ เชงเก็นวีซ่า โดยไม่จำเป็นต้องผ่านประเทศกลุ่มเชงเก็นก่อน)
  • Bosnia and Herzegovina สามารถใช้วีซ่าของ Croatia หรือ Schengen VISA แบบ multiple ได้  แต่ไม่สามารถเดินทางตรงเข้า Bosnia ได้  จะต้องผ่านโครเอเชียหรือมอนเตเนโกร
  • Montenegro ใช้วีซ่าของ Montenegro หรือเชงเก็นวีซ่าแบบ multiple ที่ยังไม่หมดอายุได้เช่นกัน

โดยสรุป การเข้าไปเที่ยว 4  ประเทศนี้แบบง่ายที่สุดคือ การได้เชงเก็นวีซ่าแบบ multiple เพราะการไปขอแยกแต่ละประเทศนั้นเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเยอะมาก  แต่ปัญหาคือการขอวีซ่าสโลวีเนียในประเทศไทยต้องทำผ่านสถานทูตออสเตรีย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะแจ้งเลยว่าวีซ่าเชงเก็นที่ออกให้จะไม่รวมวันที่อยู่ในโครเอเชีย  หรือจะให้พูดแบบตรงๆ ก็คือเค้าไม่สนับสนุนการเที่ยวโครเอเชียโดยใช้ประโยชน์จากเชงเก็นวีซ่าที่ขอผ่านประเทศเค้านั่นเอง

ดังนั้นถ้าจะไปเที่ยวผมคิดว่าดีที่สุดคือมีวีซ่าเชงเก็นเหลือจากทริปอื่นแล้วไปเที่ยวครับ  ส่วนใครจะใช้วิธีการใดๆ ให้ได้มาซึ่งเชงเก็นวีซ่าแบบศรีธนนชัยก็อาจต้องรับความเสี่ยงและแผนรองรับเอาเองถ้าเกิดการตรวจสอบเมื่อเราเดินทางไปถึง (ผมเดินทางเข้าที่ Zagreb ประเทศ Croatia ต.ม. ถามแค่ว่ามาท่องเที่ยวหรือเปล่า  มากันกี่คนซึ่งถามผมคนเดียว เพื่อนๆ ที่เดินตามมาในกรุ๊ปเค้าไม่ได้ถามอะไร)

ประกันเดินทาง

ผมเลือกใช้ประกันของซมโปะ บริษัทประกันสัญชาติญี่ปุ่นที่มั่นใจได้ในเรื่องความรับผิดชอบและบริการ (ดูรีวิวข้อควรรู้เกี่ยวกับประกันภัยเดินทาง และแนะนำซมโปะประกันภัยได้ที่นี่  https://www.9mot.com/2018/04/review-sompo-travel-insurance-10-tips-before-buying-travel-insurance/)

ทั้งนี้ประกันภัยเดินทางเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอยู่แล้วหากต้องการของวีซ่าเชงเก็น ซึ่งค่าใช้จ่ายสำหรับ package เริ่มต้นสำหรับการท่องเที่ยว 10-14 วันอยู่ราว 400-600 บาทเท่านั้น  แต่เนื่องจากผมต้องการความคุ้มครองเพิ่มเติมของค่าเสียหายส่วนแรกจากรถเช่าเพราะเช่ารถขับ ผมจึงเลือกซื้อ package ที่ครอบคลุมค่าชดเชยส่วนนี้ด้วย package ดังกล่าวนอกจากคุ้มครองกรณีค่าเสียหายส่วนแรกของรถเช่าแล้วยังครอบคลุมความเสียหายที่เกิดกับ notebook, ค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นภายหลังเดินทางกลับถึงประเทศไทย, ผลประโยชน์เงินชดเชยระหว่างการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลในต่างประเทศในฐานะผู้ป่วยใน อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุและการเจ็บป่วย  ซึ่งค่าใช้จ่ายในการทำประกันเพียงพันปลายๆ กับความคุ้มครองมากมายที่เพิ่มขึ้นนับว่าคุ้มค่าอย่างมากครับ  ใครเคยป่วยหรือเข้าโรงพยาบาลที่ต่างประเทศจะทราบดีว่าค่าใช้จ่ายสูงขนาดไหน ยิ่งยุโรปไม่ต้องพูดถึงครับ หากไม่มีประกันมาช่วยต้องจ่ายกันกระเป๋าแห้งเลยทีเดียว

สำหรับเพื่อนๆ ที่ต้องการดูข้อมูลเปรียบเทียบ package ต่างๆ ของซมโปะ สามารถอ่านและสั่งซื้อแบบ online ได้ง่ายๆ ที่ https://traveljoy.sompo.co.th/

 

Internet, SIM card, Pocket WIFI และการสื่อสาร

ทริปนี้ผมได้มีโอกาสทดลองใช้ทั้ง SIM internet จากเมืองไทย, Pocket WIFI, และ SIM ท้องถิ่น

SIM internet ผมใช้ package เสริมหมายเลขรายเดือนของ TrueMove H  (ทริปก่อนๆ ผมใช้ Travel Sim World 4 GB 15 วัน 899 บาท แต่เนื่องจาก package ดังกล่าวไม่ครอบคลุมประเทศโครเอเชีย ทริปนี้จึงต้องใช้เป็น package เสริมของหมายเลขรายเดือนแทน)

ทั้งนี้ราคาค่าบริการเสริมอยู่ที่ 50 บาท/mb แต่ไม่เกิน 499 บาท/วัน (ไม่รวมภาษี) หรือสรุปง่ายๆ ใช้ให้เต็มที่จ่าย 499 บาท  ซึ่งราคาจะพอๆ กับ Pocket WIFI โซนยุโรปครับ    สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผ่านทาง True Move H Care โทร 1331 หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมจาก Web site http://truemoveh.truecorp.co.th/upgrade_option/category/international_service/postpaid

ข้อดีกรณีที่ใช้ True Move H อยู่แล้วก็คือความต่อเนื่องของการใช้งานและยังสามารถรับ message หรือรับสายได้ปกติ สำหรับความเร็วนั้นขึ้นกับเครือข่ายผู้ให้บริการในแต่ละประเทศ  โดยรวมใช้งานได้ครอบคลุมเกือบทุกจุดที่ผมเดินทางไป มีสัญญาณแกว่งๆ บ้างบริเวณชายแดนติดออสเตรีย และบอสเนียฯ ที่เหลือใช้งานได้ทั้งการโพสและ live fb แต่ความเร็วสู้บ้านเราไม่ได้ครับ   ทั้งนี้ผมใช้ SIM ตัวนี้ติดโทรศัพท์ผมเองเพื่อหาข้อมูล, ใช้นำทางและโพสข้อมูลระหว่างเดินทางลง social media

Pocket WIFI เป็นของ WI-HO โดยซื้อ package ของยุโรป  สามารถใช้ data ได้วันละ 1 GB (ขึ้นวันใหม่จะ reset เริ่มนับใหม่) วันละ 480 บาทแชร์ได้ 5 เครื่อง  โดยสัญญาณครอบคลุมประเทศสโลวีเนียและโครเอเชีย … ใช้งานถือว่าดี มีสัญญาณค่อนข้างทั่วถึงในทั้งสองประเทศข้างต้น จะมีสัญญาณอ่อนบ้างเมื่อเข้าเขตชายแดนหรือพื้นที่ห่างไกลเมือง  ความเร็วดีพอที่จะใช้ดูภาพ VDO กล้องวงจรปิดและใช้งานอื่นๆ ได้สบาย  ทั้งนี้ผมใช้ Pocket WIFI ตัวนี้ในการแชร์ให้สมาชิกในกลุ่มใช้ทำงานระหว่างเดินทาง

ข้อมูลเพิ่มเติมของ Wi-Ho อ่านได้ตามลิ้งค์นี้

ข้อดีของ pocket wi-fi คือไม่ต้องใช้มือถือ  สามารถแชร์กันได้ถึง 5 เครื่อง และจะเริ่มนับ data ใหม่ทุกวัน  ทำให้เฉลี่ยการใช้งานได้สะดวก  และรุ่นที่ผมนำไปใช้ Battery อึดมากครับใช้งานได้ทั้งวันโดยไม่ต้องชาร์จเพิ่มเลย

สำหรับ ​SIM ท้องถิ่น  สมาชิกในกรุ๊ปซื้อมาใช้เฉพาะของโครเอเชียครับ  เท่าที่เห็นมีให้เลือก 2 เจ้าราคาใกล้เคียงกัน 11 Euro หรือราว 4xx บาทใช้งานแบบไม่จำกัดได้ต่อเนื่อง 7 วัน … สำหรับสัญญาณก็ไม่ต่างกับ pocket wifi และ SIM จากเมืองไทยครับ  แต่อาจจะต้องวางแผนให้ดีเรื่องการใช้งานกรณีที่มีการเดินทางสลับไปประเทศอื่นๆ ด้วยเพราะอาจต้องซื้อ 2 ซิมเพื่อให้ครอบคลุมการเดินทางทั้งหมด

แนะนำว่าอย่าลืมลงโปรแกรม Skype พร้อมซื้อเครดิตไว้สัก 10 Euro สำหรับโทรในต่างประเทศ  เพราะค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าโรมมิ่งเยอะ  ยิ่งกรณีที่จองบ้านพักแบบ apartment ยิ่งจำเป็นนะ เพราะจะไม่มี counter check-in เหมือนโรงแรมทั่วไป  อ้อ คนในยุโรปเค้าไม่ได้ใช้ line เหมือนบ้านเรา  แต่จะใช้ whatsapp หรือ viber ดังนั้นลงติดเครื่องไว้ก็ดีครับ  เผื่อติดต่อ host หรือบริษัทรถเช่ากรณีฉุกเฉิน

อาหารการกิน

Key สำคัญที่ทำให้เราสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในทริปได้เยอะก็คือเรื่องอาหารนี่แหละครับ  ถ้าเราสามารถทำอาหารทานเองได้บ้างในบางมื้อนอกจากสะดวกแล้วยังทำให้เรามีเงินเหลือไปทานหรูข้างนอกได้เพิ่มขึ้นด้วย …​ สำหรับการทำอาหารเองนี่ไม่ได้หมายถึงซื้อมาม่ามาทานทุกมื้อนะครับ แบบนั้นก็ไม่ไหวนะประหยัดเกิ้น … แต่ผมหมายถึงเมนูยอดนิยมแบบไทยๆ ครับ  ผู้ช่วยคือเครื่องปรุงสำเร็จของโลโบที่ผมติดใจตั้งแต่ทริปที่แล้ว ​ผมเตรียมไปหลายอย่างเลยเพราะพกพาง่ายราคาไม่แพง  วันไหนอยากทานอาหารไทยก็แวะซื้อของสดพวกผักและเนื้อต่างๆ ตาม super market ระหว่างทาง.. ใครจะไปเชื่อว่าเมนูอย่างข้าวมันไก่หรือสุกี้ฯ จะสามารถทำทานกันเองได้ง่ายๆ ในยุโรป   นอกจากนี้โลโบยังมีเครื่องปรุงของเมนูยอดนิยมอย่างพะแนง, มัสมั่น, กะเพรา,  รวมถึงผงหมักและน้ำจิ้มต่างๆ ให้เลือกหลากหลายมาก  ซึ่งเกือบทั้งหมดรสชาติดีเหลือเชื่อ  มีอย่างเดียวที่ผมว่ายังไม่ถึงเครื่องสำหรับทริปนี้คือแกงเหลืองครับ (ทริปที่แล้วเป็นต้มยำที่ผมไม่ชอบ)  ก็ไม่แน่ใจว่าเพราะผมเป็นคนใต้ชอบรสจัดหรือเปล่า เลยรู้สึกว่ามันใสไปหน่อย

นอกจากโลโบแล้วทริปนี้พี่สมาชิกในกรุ๊ปซื้อของฝากจากโคราชไปด้วย  เป็นผัดไทยโคราชสำเร็จรูปและกุนเชียง  ผมว่าเป็นอะไรที่ลงตัวมากเหมาะกับการนำไปทำทานเองที่เมืองนอก  เพราะนอกจากราคาไม่แพงแล้ว  รสชาติอร่อยอีกต่างหาก  … มื้อแรกๆ อาจต้องลองผิดลองถูกนิดนึงเพราะบางทีสูตรข้างซองมันก็ไม่ work นะ ต้อง apply เอา … เวลาปรุงก็สามารถซื้อเนื้อไก่, เนื้อหมู หรือจะเป็น seafood มาใส่เสริมลงไป  ผัดรวมกับผักสดๆ ที่หาได้ไม่ยาก แก้เลี่ยนอาหารยุโรปได้เป็นอย่างดี

สรุปแล้วทริปนี้ผมกับเพื่อนๆ ทำอาหารทานเอง 16 มื้อครับ  ทำให้ประหยัดค่าอาหารไปได้เยอะ แถมยังช่วยแก้เลี่ยนขนมปังกับพาสต้าได้เป็นอย่างดี

ที่พัก

ผมเจาะจงเลือกที่พักที่มีครัวทุกแห่งเผื่อมีโอกาสปรุงอาหารเอง (จะใช้หรือไม่ใช้ว่ากันอีกที)  ซึ่งที่พักประเภทนี้ในยุโรปมักเรียกว่า apartment คือมีครัวกับโต๊ะนั่งทานข้าวด้วย  โดยมีตั้งแต่ 2-4 ห้องนอนครับ (บางแห่งใช้ sofa bed เพิ่มเติมในห้องนั่งเล่นเพื่อรองรับสมาชิกทั้ง 6 คนของเรา)  เอาล่ะมาดูรีวิวสั้นๆ ของที่พักแต่ละเมืองกันเลย

เมือง Bled ที่พัก    House, Garden and a Green Cat

Link ไปจอง https://www.airbnb.com/users/show/20160488

เป็นบ้านโบราณเลขที่ 1 ในเขตย่านพักอาศัยใกล้ทะเลสาบ bled ภายในตกแต่งใหม่อย่างน่ารักอบอุ่น  พื้นที่ห้องนั่งเล่นกว้างขวาง มีครัวและโต๊ะทานข้าวสำหรับกรุ๊ปเล็กๆ …    ห้องนอนจะมี 2 ห้องและเสริมเตียงอีก  2 เตียงในห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่  มีห้องน้ำ 2 ห้อง อยู่ในห้องนอนหนึ่งห้องและส่วนกลางหนึ่งห้อง และมีห้องส้วมแยกอีก 1 … ที่นี่มีครัวพร้อมอุปกรณ์ต่างๆ ให้ครบครัน เหมาะมากกับกลุ่มเราซึ่งทำอาหารทานกันเอง ที่ชอบมากคือหลังบ้านมีสวนเล็กๆ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับไว้อย่างละนิดละหน่อย ช่วงฤดูใบไม้ผลิจึงสดชื่นมาก ตอนเช้ามายืนจิบกาแฟสูดอากาศตอนเช้าเป็นอะไรที่ฟินสุดๆ ทำเลของบ้านจะอยู่ไม่ไกลจากปราสาท Bled เดินไปได้สบายๆ  ส่วนทะเลสาบจะไกลออกไปอีกนิดจะเดินไปก็ได้น่าจะใช้เวลาราว 15 นาที  แต่ผมว่าเอารถไปจะสะดวกกว่า

เมือง Rastoke ที่พัก Apartments Žalac

Link ไปจอง https://www.booking.com/hotel/hr/apartments-zalac.th.html?aid=922261

ที่พักแห่งนี้อยู่บนเนินเหนือหมู่บ้านน้ำตก Rastoke จากที่พักเดินลงเนินมา 3 นาทีก็ถึงทางเข้า Rastoke เลยจึงเหมาะมากกับคนที่อยากใกล้ชิดกับบรรยากาศน้ำตก  เรียกได้ว่านอนกลางคืนได้ยินเสียงน้ำตกเลยล่ะ ดีกว่านี้ก็คงต้องพักในหมู่บ้าน Rastoke เลยซึ่งค่าที่พักสูงกว่าพอสมควร … ห้องจะอยู่ชั้น 2 ของบ้าน มี 2 ห้องซึ่งนอนได้ห้องละ 3 คน มีครัวและห้องน้ำในตัว  ขนาดห้องไม่อึดอัดแต่ก็ไม่ได้ถึงกับกว้างมากนัก … ที่ชอบคือ host เค้า friendly มากๆ แม้จะพูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดีนัก แต่ก็พยายามให้ข้อมูลและทำให้แน่ใจว่าเราพักกันอย่างสะดวกสบาย

เมือง Split ที่พัก Apartment Carnation

Link ไปจอง https://www.airbnb.com/users/show/1875702

ที่พักแห่งนี้อยู่ห่างออกจากเมืองเก่าของ Split ออกมาเล็กน้อย  สามารถเดินจากที่พักไปเที่ยวในเมืองเก่าได้  ที่จองเพราะนอกจากห้องพักดูสะดวกสบายแล้ว  ยังมีที่จอดรถฟรีอีกด้วยซึ่งสะดวกมากๆ … สำหรับห้องนอนจะมีด้วยกัน 3 ห้องและมีเตียงในห้องนั่งเล่นอีก 2 เตียงสามารถพักได้ 7-8 คนสบายๆ ครับ   ด้านนอกมีระเบียงและพื้นที่สวนเล็กๆ พร้อมเตา BBQ ด้วยครับแต่ผมไม่ได้ใช้

เมือง Dubrovnik ที่พัก Apartments Villa Ari

Link ไปจอง https://www.booking.com/hotel/hr/apartments-villa-ari.th.html?aid=922261

เหตุผลหลักที่เลือกที่นี่เพราะวิวครับ สามารถมองเห็นเมืองเก่า Dubrovnik ได้จากระเบียง  ส่วนของแถมก็คือที่จอดรถฟรีซึ่งสำคัญมากๆ เพราะค่าจอดรถเมืองนี้แพงมหาโหด (ช.ม.ละ 100-200 บาท) วันที่ไปเที่ยวเมืองเก่าผมขับรถไปส่งเพื่อนๆ แล้วกลับมาจอดรถหน้าที่พัก  จากนั้นก็เดินไปสมทบซึ่งใช้เวลาราว 10 นาที  ในส่วนของที่พักตกแต่งสวยงามแบบโมเดิร์น มี 3 ห้องนอนพร้อมครัวและพื้นที่ส่วนกลาง  ห้องน้ำมี 2 ห้องทำให้ไม่ต้องต่อคิวกันนาน  ถือว่าเป็นที่พักที่ประทับใจมากแห่งนึงของทริปเลย

เมือง Kotor  ที่พัก Veron Apartment

Link ไปจอง https://www.booking.com/hotel/me/green-peace-holiday-apartments.en-gb.html?aid=922261

เดิมทีผมจองที่พักอีกหลัง แต่เอเจ้นต์ซึ่งเป็นตัวแทนขอให้เปลี่ยนมาเป็นที่นี่ซึ่งเป็นของเขาเอง  ตัวที่พักเป็นอพาร์ทเม้นต์มีครัวในตัว ห้องนอนค่อนข้างแคบกว่าที่อื่นๆ ของทริปและเหม็นบุหรี่ทำให้ไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่ครับ  จากที่พักเดินไปย่านเมืองเก่าได้โดยใช้เวลาราว 10-15 นาที

เมือง Mostar ที่พัก Apartments City Paradise

Link ไปจอง https://www.booking.com/hotel/ba/city-paradise.th.html?aid=922261

เป็นที่พักใกล้ย่านเมืองเก่า Mostar ห้องพักตั้งอยู่ชั้นบนของบ้าน  ตกแต่งอย่างสวยงาม สะอาดสะอ้านและยังใหม่มาก  ทั้งสองห้องที่ผมจองมีครัวและห้องน้ำในตัว  จุดเด่นของที่นี่นอกจากตัวห้องพักแล้ว host ยังเป็นคนอารมณ์ดีและให้ข้อมูลท่องเที่ยว Mostar ได้อย่างละเอียด  ทั้งนี้แนะนำให้ซื้อทัวร์เดินเที่ยวเมืองเก่ากับเค้าคนละ 10 Euro ได้ความรู้เกี่ยวกับเมืองนี้และสงครามกลางเมืองเยอะเลยครับ เพราะเค้าเจอประสบการณ์นั้นด้วยตัวเอง  … อ้อ ทางเข้าบ้านจะแคบหน่อย ผมไม่สามารถขับรถเข้าไปจอดได้ แต่ host เค้าขับรถชำนาญช่วยขับเข้าไปให้ครับ

เมือง  Zadar ที่พัก Apartments and a Room Ina

Link ไปจอง https://www.booking.com/hotel/hr/apartmani-ina.th.html?aid=922261

ที่พักแห่งนี้อยู่ชานเมือง Zadar ราคาถูกมากเมื่อเทียบกับพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้  ห้องจะอยู่ชั้นบนของบ้าน  มี 3 ห้องนอนพร้อมพื้นที่ living area และครัว  มีระเบียงชมวิวทะเล  ห้องน้ำมี 2 ห้องจึงสะดวกพอสมควรสำหรับ 6 คน  ข้อเสียก็คือต้องแบกกระเป๋าขึ้นชั้น 3 ของบ้านครับ  ใครกระเป๋าหนักก็จะลำบากหน่อย

เมือง Zagreb ที่พัก Apartment Maksimir Lux

Link ไปจอง https://www.booking.com/hotel/hr/maksimir-lux.th.html?aid=922261

เป็น apartment พร้อมห้องนอน 4 ห้องพร้อมครัว, living area และระเบียง  พื้นที่ใช้สอยเยอะที่สุดในบรรดาที่พักทั้งหมด  แต่เสียดายที่เราแค่มาค้างคืนเดียว แถมเป็นวันสุดท้ายของทริปที่ไม่มีการใช้ครัวก็เลยใช้ไม่คุ้มเท่าไหร่  ห้องน้ำของที่นี่มี 2 ห้องเช่นกัน  แบ่งห้องออกเป็น 2 ชั้นเหมาะกับกลุ่มเพื่อนหรือครัวครอบมาพักด้วยกันครับ  ส่วนข้อเสียก็คือการเดินทางเข้าไปเที่ยวในเมืองเมืองต้องใช้รถไม่สามารถเดินไปได้ครับ

รถเช่า

เนื่องจากผมมักเดินทางไปเที่ยวยุโรปกับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ ราว 6-8 คนก็มักกจะเช่ารถประเภท mini van หรือบางทีเรียก mini bus ที่รองรับผู้โดยสารได้ 7-9 คนแล้วแต่การวางที่นั่ง (ถ้า 9 คน จะนั่งแถวละ 3 คนรวมถึงแถวหน้าสุดด้วย) … รุ่นยอดนิยมที่มักเลือกใช้คือ Benz Vito เหมือนกับครั้งนี้ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นที่ราคาไม่แพงเกินไปและมีเกียร์ออโต้ให้ … ทริปล่าสุดได้รถค่อนข้างใหม่ ด้านในดูดีกว่าครั้งก่อนๆ เกียร์จะอยู่ข้างพวงมาลัยซึ่งขับแรกๆ อาจจะสับสนกับไฟเลี้ยวและที่ปัดน้ำฝนสักหน่อย

คันที่ผมได้มาสำหรับทริปนี้ที่นั่ง 2 แถวหลังจะสไลด์ได้ซึ่งสะดวกมากๆ เราสามารถปรับพื้นที่ด้านหลังให้พอเหมาะกับปริมาณสัมภาระได้ ในขณะที่รุ่นเก่าๆ หรือบางรุ่นต้องมาลุ้นเอาว่าจะมีพื้นที่พอจะวางกระเป๋าได้หรือเปล่า … สิ่งอำนวยความสะดวกในรถถือว่าดีเลยล่ะ ทั้งนี้ผมจองผ่าน rentalcars (เครือเดียวกับ booking.com) บริษัทรถเป็น alamo ซึ่งในโครเอเชียบริษัท enterprise เป็นผู้ดูแลด้านการบริการให้ (ฟังดูแล้วงงๆ เนอะ ผมว่าบริษัทพวกนี้บางทีก็เป็นบริษัทพี่น้องกันนั่นแหละมั้ง) … การรับรถสะดวกมาก  ออกจาก custom หันมาทางซ้ายก็จะเจอเคาท์เตอร์เลยซึ่งมีหลายบริษัท ของ enterprise อยู่ซ้ายสุด  เมื่อเซ็นต์เอกสารรับกุญแจแล้วก็เดินไปรับรถที่ลานจอดของเหล่าบริษัทรถเช่านอกสนามบิน  ส่วนขากลับผมบินไฟลท์เช้า  พนักงานยังไม่เริ่มทำงานก็สามารถจอดรถแล้วหยอดกุญแจไว้ในกล่องที่เคาท์เตอร์ได้เลยไม่ยุ่งยากแต่ประการใด  แต่เพื่อความไม่ประมาท ควรถ่ายภาพหรือ vdo รอบคันรวมถึงเข็มไมล์ไว้ด้วยทั้งวันรับและคืนรถ  เผื่อมีการเรียกร้องค่าเสียหายหลังจากกลับจากทริปจะได้มีหลักฐานในการเจรจากัน

กระเป๋าที่สมาชิกในทริปใช้ก็มีตั้งแต่ขนาด 25-29 นิ้ว ผมแนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ควรกำหนดขนาดไม่เกิน 25 นิ้วจะดีที่สุด เพราะถ้าไปเจอคันที่มีพื้นที่น้อยอาจจะวางสัมภาระไม่พอ

  • สำหรับค่าเช่า 11 วันวันละ 3,400 บาทโดยประมาณ รวม 37,400 บาท
  • ค่าประกัน 0 exceed (ซื้อผ่าน rentalcars) 5,370 บาท
  • จ่ายค่าคนขับเพิ่ม 1 คนกับค่าประกันเข้าประเทศ Bosnia รวมแล้วประมาณ 2 พันนิดๆ ครับ (ค่าคนขับนี่หมายถึงเราระบุในสัญญาว่าระหว่างการเช่าจะมีผู้ขับรถได้ 2 คน ทั้งนี้ถ้าเกิดเหตุแล้วไม่ใช่คนที่ระบุว่าเป็นคนขับ ประกันจะไม่ครอบคลุมครับ) ไม่ได้หมายถึงว่าเราจ้างคนมาขับรถให้เรานะ

เฉลี่ยแล้วทั้งทริปหารกัน 6 คนก็จ่ายไปราว 7,500 บาทต่อคนสำหรับ 11 วัน  และค่าน้ำมันทั้งทริป 9,500 บาท (วิ่งราว 2,400 ก ม.)

การแลกเงิน

เป็นอีกเรื่องที่ปวดหัวพอสมควรสำหรับทริป 4 ประเทศนี้เพราะมี 2 ประเทศใช้ Euro ส่วนอีกสองประเทศใช้สกุลเงินของตัวเอง  ทั้งนี้ให้เตรียมแลกเงิน Euro ไปจากเมืองไทยแล้วไปแลกเป็นสกุลเงินท้องถิ่นที่โน่นครับ   ทั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยน ณ ปลายเดือนเม.ย. 61 ตามนี้เลย

  • Croatia ใช้สกุลเงิน  Kuna (HRK) = 5.17 THB/Kuna (ถ้าแลกที่สนามบิน Zagreb 1 Euro แลกได้ 7 Kuna  ถ้าเป็นไปได้แลกในเมืองดีกว่า)
  • Montenegro & Slovenia  ใช้เงิน Euro = 38.3 THB
  • Bosnia ใช้เงิน BAM =  19.54 THB  ประมาณ Euro/2  ซึ่งในเมืองท่องเที่ยวจะรับ Euro ด้วยไม่จำเป็นต้องแลก ​BAM ก็ได้
  • สำหรับผมแลกเงินสดไปแค่ราว 15,000 บาทต่อคนครับ  ที่เหลือก็ใช้ผ่านบัตรเครดิตครับเพราะร้านค้าส่วนใหญ่ก็รับบัตรเครดิต ไม่มีปัญหาอะไร

ทางด่วน .. ผมสรุปค่าใช้จ่ายในการใช้ทางด่วนของแต่ละประเทศให้ดังนี้ครับ

  • สโลวีเนีย-ซื้อสติกเกอร์ (vignette) มีขายบริเวณชายแดน ติดที่กระจกรถ  ราคา 15 euro มีอายุ 7 วัน
  • โครเอเชีย-จ่ายค่าทางด่วนตามระยะทาง รับบัตรขาเข้าและจ่ายเงินขาออก อย่าลืมออกช่องที่มีสัญลักษณ์เจ้าหน้าที่รับเงิน (คำนวณค่าทางด่วนได้ที่นี่ http://htourist.net/info.php)
  • บอสเนียฯ-ผมเจอทางด่วนแค่ครั้งเดียวตอนเดินทางออกจากเมือง Mostar กลับเข้าไปประเทศโครเอเชีย  เป็นช่วงที่สั้นมากไม่กี่ก.ม.เชื่อมต่อกับทางด่วนของโครเอเชีย จ่ายค่าทางด่วนด้วยบัตรเครดิตไป 50 กว่าบาท (เพราะไม่มีเงินสดของบอสเนียฯ ติดตัว)
  • มอนเตเนโกร-ไม่เจอทางด่วนเลยตลอดการขับรถ 2 วันแถบชายฝั่งทะเล ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าบริเวณอื่นของประเทศนี้ต้องจ่ายค่าทางด่วนหรือไม่

การเตรียมเสื้อผ้า

ทริปนี้เป็นอะไรที่ลำบากใจพอสมควรในการเตรียมเสื้อผ้า เพราะปกติแล้วไปยุโรปช่วงฤดูใบไม้ผลิอากาศจะเย็นถึงค่อนข้างหนาว แต่เมื่อเช็คสภาพอากาศก่อนเดินทางกลับพบว่าปีนี้อากาศอุ่นเร็วโดยเฉพาะเมืองชายฝั่งของโครเอเชียอุณหภูมิราว 25 องศาซึ่งถ้าแดดออกจะรู้สึกร้อนด้วยซ้ำ … อย่างไรก็ตามมีบางวันในสโลวีเนียที่อากาศหนาว (ต่ำกว่า 10) การเตรียมเสื้อผ้าจึงต้องเป็นไปแบบผสมผสาน  มีทั้งเสื้อยืดกับเชิ้ตที่สวมใส่สบายๆ กับเสื้อกันหนาวแบบไม่หนามาก และเสื้อกันหนาวแบบกันน้ำได้อีกตัวสำหรับกรณีฝนตก

ทริปนี้ผมได้เสื้อจาก Koo’s มา  ซึ่งทั้งหมดเหมาะกับการสวมใส่แบบลำลองก็เลยนำติดกระเป๋าไปด้วย  หลังจากลองแล้วต้องบอกว่าติดใจครับเพราะเนื้อผ้า cotton ของเค้านุ่มสบายจริงๆ  ที่สำคัญทรงของเสื้อสวย เข้ารูป   เหมาะกับการใส่แบบลำลองหรือจะสวมเป็นตัวในกับเชิ้ตก็ดูเข้ากันดีครับ  ใครชอบเสื้อยืดสไตล์ minimal ผมแนะนำเลยครับ

ระบบนำทาง

ผมยังคงนำ GPS Garmin ตัวเก่าติดตัวไปโดยโหลดแผนที่ free ของประเทศที่จะไปใส่ SD card สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน

สำหรับการนำทางหลักในครั้งนี้ผมใช้มือถือกับ app Google map และ waze ซึ่งตัว Google map ผมโหลดแบบ off line ไปด้วยเพราะวันที่อยู่ในมอนเตเนโกรและบอสเนียฯ ไม่มี internet ใช้ระหว่างเดินทาง  ซึ่งตลอดทริปก็ถือว่าใช้งานได้ดีครับ  มีอยู่แค่ครั้งหรือสองครั้งที่นำเราผ่านเส้นทางสายรองโดยไม่จำเป็น … สำหรับ waze เมือใช้คู่กับ internet จะมีการบอกตำแหน่งกล้องจับความเร็วด้วยครับ ซึ่งก็ช่วยให้เราสามารถลดปัญหาเรื่องขับรถเกินความเร็วที่กำหนดได้ระดับหนึ่ง แต่ดีที่สุดก็คือการปฏิบัติตามกฎจราจรครับ

กล้อง/อุปกรณ์ถ่ายภาพ

แทบทุกครั้งที่ทำรีวิวมักมีคนถามเรื่องกล้องและเลนส์ที่ใช้ ก็เลยถือโอกาสเขียนข้อมูลไว้ตรงนี้เลยดีกว่า … ทริปนี้เป็นการฉลองกล้องตัวใหม่ Nikon D850 ที่เพิ่งถอยก่อนเดินทางได้ราวครึ่งเดือนแทบจะยังไม่ได้ลองใช้ก็เอาไปออกทริปเลย  แต่เนื่องจากคุ้นเคยกับ Nikon อยู่แล้วจึงไม่ต้องปรับตัวมากนัก  ที่ถอยตัวนี้ก็เพราะอยากได้ความสามารถด้านการถ่ายภาพ VDO เป็นตัวตั้ง  ซึ่งตลอดทริปก็ยอมรับว่าประทับใจกับคุณภาพของ VDO และความสามารถในการถ่ายแบบ  super slow motion ที่กล้องจะสร้างไฟล์ slow ให้เลยไม่ต้องมาทำใหม่ในภายหลัง  อีกอย่างที่ชอบคือ touch screen ที่ทำให้การถ่ายภาพในบางสถานการณ์ง่ายขึ้นเยอะครับ  แต่ก็ผิดหวังกับความสามารถในการ focus แบบต่อเนื่อง เพราะวืดวาดพอสมควรและระบบโฟกัสแบบติดตามวัตถุก็ยังห่างกับความคาดหวัง

เลนส์ที่นำไปด้วยกับทริปนี้ก็จัดไปค่อนข้างเต็มที่คือ Nikon 14-24 f2.8, Nikon 24-70 f2.8, Nikon 70-200 f2.8 กับเลนส์ fix Nikon 50 f1.4 และ Nikon 85 f1.8 ซึ่งสารภาพตามตรงว่ากว่า 80% ใช้ 24-70 ครับเพราะคล่องตัวสุดและบางวันถ้าต้องแบกกระเป๋าเดินนานๆ ก็ไม่สามารถนำเลนส์ทั้งหมดติดตัวไปได้

อุปกรณ์เสิรมอีกอย่างที่ผมนำติดตัวไปในทริปหลังๆ คือฟิลเตอร์ ND 10 stop สำหรับถ่ายภาพน้ำทะเลให้นิ่งสนิท  ทำให้ภาพดูน่าสนใจมากขึ้นครับ

ยา

การหาซื้อยาในยุโรปนั้นยากมากครับ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ  ดังนั้นผมจึงเตรียมติดตัวไปด้วยเสมอเวลาออกทริป   ยาที่เตรียมไปก็จะมียาแก้ไขแก้ปวด ทั้งแผนไทย (ฟ้าทะลายโจร) และแผนปัจจุบัน (paracetamol)  ยาแก้อักเสบ ยาแก้หวัด ยาพ่นแก้เจ็บคอ ขมิ้นชัน (ไว้ทาแผลสดและแก้กระเพราะ)  คาร์บอนเม็ด (แก้ท้องเสีย)  นอกจากนี้ก็มีพวกยาทาแก้ปวดเมื่อยและพลาสเตอร์ยา

 

ก็หวังว่าข้อมูลและภาพทั้งหมดคงสร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อนๆ ได้ไปค้นหาความงามใน 4 ประเทศนี้  ส่วนรายละเอียดของแต่ละสถานที่จะนำมารีวิวให้ภายหลังครับ

 

รีวิวอื่นๆ ของทริปนี้

ทริปขับรถเที่ยวโครเอเชีย, สโลวีเนีย, บอสเนียฯ, มอนเตเนโกร – ตอนที่ 1 I FEEL SloveNIA

ทริปขับรถเที่ยวโครเอเชีย, สโลวีเนีย,​ บอสเนียฯ, มอนเตเนโกร  – ตอนที่ 2 ถึงเวลา “โครเอเชีย”

ทริปขับรถเที่ยวโครเอเชีย, สโลวีเนีย, บอสเนียฯ, มอนเตเนโกร – ตอนที่ 3 บอสเนียฯ-มอนเตเนโกร ประเทศนอกสายตา