Select Page

“คนติดเล่า” ตอนที่ 10 : คำสารภาพเรื่องกล้องกับการแต่งภาพ

นายมดใช้กล้องรุ่นไหน เลนส์อะไร? 

นี่เป็นคำถามที่ผมได้รับบ่อยมากตลอดหลายปีที่ผ่านมาทั้งหน้าไมค์หลังไมค์  ซึ่งผมก็ตอบด้วยความยินดีทุกครั้ง แต่ใจจริงแล้วผมก็อยากอธิบายเพื่อเติม เพราะเชื่อว่าหลายคนคิดว่าการเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมือนกันกับผมแล้วจะได้ภาพเหมือนกัน ซึ่งมันไม่ได้เป็นแบบนั้นซะทีเดียว …

ที่เขียนจั่วหัวแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าฝีมือถ่ายภาพของผมเก่งฉกาจอะไรหรอกครับ แต่ภาพของผมที่เห็นๆ นั้นมันเกิดมาจากหลายขั้นตอนและหลายองค์ประกอบ ตั้งแต่อุปกรณ์+สภาพแวดล้อมตอนถ่ายภาพ+ทักษะการถ่ายภาพ+มุมมอง รวมถึงขั้นตอนสุดท้าย post process หรือหลายคนเรียกว่าการตกแต่งภาพนั่นเอง

บทความนี้ก็เลยถูกเขียนขึ้นเพื่ออธิบายและขยายความให้คนที่ชอบภาพถ่ายแนวของผม (คนไม่ชอบก็ศึกษาได้นะ แล้วไม่ต้องทำตาม 555) และอยากจะเรียนรู้เพิ่มเติมว่าภาพเหล่านี้มีที่มาอย่างไร … อย่างไรก็ตามบทความนี้จะเล่าให้ฟังถึงแนวทางมากกว่าที่จะลงลึกเรื่องรายละเอียดวิธีการทำ แต่ก็หวังว่าจะทำให้เพื่อนๆ เข้าใจมากขึ้นครับ

เอาล่ะมาถึงประเด็นแรกเลย … ผมใช้กล้องรุ่นไหน เลนส์อะไร

ตอบแบบจริงใจเลยว่าผมใช้กล้อง Nikon มาตลอดตั้งแต่สมัยเริ่มถ่ายภาพใหม่ๆ มีช่วงสั้นๆ ที่กล้อง digital มาใหม่ๆ ก็ใช้ของยี่ห้ออื่นบ้างเป็นกล้องเสริมจากกล้องแบบฟิล์มของ Nikon  ทั้งนี้ตัวที่ใช้งานจริงจังจะเป็น Nikon เสมอไล่มาจาก FM2N, F801s, D70, D80, D90, D7000 จนมาถึงปัจจุบันใช้ Full frame รุ่น D750 ของ Nikon  แต่ก็อาจมีบางทริปที่ทาง Nikon ให้ยืมรุ่นอื่นๆ ไปใช้อาทิ D7100, D610 เป็นต้น  คือบอกได้แบบไม่อายว่าเป็นสาวก Nikon มาแต่ไหนแต่ไร (นี่ไม่ได้ค่าโฆษณานะ 555)

Update ล่าสุดเมษา 2561 ตอนนี้ผมเปลี่ยนมาใช้กล้อง Nikon D850 ครับ

ถามต่อว่าทำไมต้องเป็น Nikon? ยี่ห้ออื่นไม่ดีเหรอ หรือสีไม่สดใสแบบ Nikon (ตามที่ชอบลือกัน) … ก็ขอตอบตามตรงว่ามันเป็นความจงรักภักดีต่อแบรนด์ (Loyalty) ล้วนๆ ใช้แล้วชอบและคุ้นเคยก็แค่นั้น และผมเชื่อเสมอว่าแต่ละยี่ห้อล้วนมีข้อดีข้อเสียทั้งนั้น เรื่องสีเดี๋ยวนี้ก็ทำได้หมด จะให้ภาพจาก Nikon มีโทนสีซอฟท์ลงหรือจะให้ canon สีจัดจ้านก็ทำได้ไม่ยากในกระบวนการ post process แม้ว่า character หนึ่งของ Nikon จะเป็นเรื่องคอนทราสต์ของสีที่มากกว่ายี่ห้ออื่นก็ตาม … ถ้าจะให้สรุปตรงนี้ เอาที่ใช้แล้วสบายใจ ถนัดมือตัวไหน หรือรุ่นไหนมีฟังก์ชันที่ใช้งานได้ตรงกับความต้องการก็จัดไปเลย กล้องในระดับราคาเดียวกัน ไม่ว่ายี่ห้อไหนก็คุณภาพไม่หนีกันมากครับ

เลนส์ล่ะ?

คิดว่าทุกคนเหมือนกันนะ ใครๆ ก็อยากใช้เลนส์ค่าย แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าเลนส์ Nikon (Nikkor) นั้นแพงเหลือเกิน  โดยเฉพาะเลนส์เกรดสูง .. สมัยก่อนผมก็จะใช้เลนส์ค่ายบ้าง เลนส์อิสระบ้างปะปนกันไปตามความสามารถด้านการเงินในขณะนั้น  เพิ่งจะหันมาใช้เลนส์ Nikon ทั้งหมดก็เมื่อปี 59 หรือปีที่แล้วนี่เอง (บทความนี้เขียนต้นปี 60) โดยปัจจุบันมีเลนส์ 3 ตัวที่ติดกระเป๋าประจำได้แก่ Nikon 14-24 f2.8, Nikon 24-70 f2.8 และ Nikon 70-200 f4  ซึ่งก็ถือว่าสามารถทำงานตามที่ผมต้องการได้ค่อนข้างครบถ้วนและยังพอรับกับน้ำหนักได้สำหรับการเดินทางท่องเที่ยว (มากกว่านี้ไม่ไหวแล้ว)

Update ล่าสุดเมษา 2561  ผมซื้อเลนส์ fix มาอีกสองตัวคือ 50 f1.4 และ 85 f1.8 แต่ก็ไม่ได้ขนไปทั้งหมดตอนออกทริปนะครับ เพราะมันหนักเกินไป จะนำไปเฉพาะที่คิดว่าจะได้ใช้และเหมาะกับลักษณะของทริปครับ

ถามว่าทำไมต้องใช้เลนส์แพงๆ หรือที่หลายคนเรียกว่าเลนส์เทพ … ตอบเลยว่าเพราะต้องการคุณภาพสูงที่สุดเนื่องจากผมรับงานถ่ายภาพด้วย การส่งมอบงานที่มีคุณภาพสูงสุดให้กับลูกค้าเป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมาก ถ้าภาพที่ถ่ายมาใช้บน facebook อย่างเดียวก็คงไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ขนาดนี้ แต่หากนำไปใช้งานด้านการพิมพ์หรือโฆษณา เลนส์เกรดโปรนอกจากให้คุณภาพของงานที่ดีกว่าแล้ว ยังสามารถทำงานได้ดีกว่าในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยกับการถ่ายภาพด้วย (เช่นสภาพแสงน้อยเป็นต้น)

ประเด็นถัดมาขอตอบแบบรวมๆ คือ สภาพแวดล้อมตอนถ่ายภาพ+ทักษะการถ่ายภาพ+มุมมอง ซึ่งต้องอาศัยทั้งโชค, จังหวะ, โอกาสและการวางแผนที่ดีร่วมกับทักษะและประสบการณ์  เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และสั่งสมเองไม่มีทางลัด การเป็นช่างภาพที่ดีต้องรู้จักสังเกต ต้องตั้งคำถามว่าภาพของคนอื่นที่สวยนั้นสวยเพราะอะไร อย่ามัวแต่ตั้งคำถามว่าเค้าใช้กล้องรุ่นไหน แต่ให้ตั้งคำถามว่าเขาวางองค์ประกอบอย่างไร เลือกใช้รูรับแสงแบบไหน และควบคุมโทนสีอย่างไรจะมีประโยชน์ในการพัฒนาฝีมือของเรามากกว่า

มาถึงประเด็นสุดท้าย “นายมด” แต่งภาพไหม?

ตอบเลยครับว่าแต่งภาพ … ก่อนอื่นต้องบอกว่าผมเป็นคนไม่ anti เทคโนโลยี ไม่มีกรอบเรื่องนี้ และไม่เชื่อว่าช่างภาพที่เก่งต้องจบหลังกล้อง (ไม่แต่งภาพ) …​ ผมอยากเปรียบเทียบแบบนี้ครับ คุณคิดว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินควรแต่งหน้าไหม?  แน่นอนว่าพนักงานต้อนรับส่วนใหญ่หน้าตาดีอยู่แล้ว ทำไมไม่ให้เขาสวยแบบธรรมชาติล่ะ … คำตอบของผมก็ทำนองเดียวกันครับ ภาพถ่ายเป็นงานศิลปะที่ทำให้คนดูแล้วมีความสุข มันคงไม่ผิดถ้าเราจะแต่งแต้มตามสมควรให้ภาพนั้นสวยงามโดดเด่นยิ่งขึ้น โดยไม่ทำลายความเป็นตัวตนของสิ่งที่อยู่ในภาพนั้นๆ … สำหรับผมแล้วส่วนใหญ่ผมจะให้ความสำคัญกับการปรับโทนแสงและสี โดยที่หลีกเลี่ยงการตัดต่อหรือลบโน่นย้ายนี่ในภาพ  ยกเว้นงานที่จะเอาไปใช้เพื่อการโฆษณาและต้องการความสมบูรณ์แบบจริงๆ ผมอาจมีการลบสิ่งที่ไม่ต้องการออกจากภาพบ้างเป็นกรณีไป แต่ก็ใช่ว่าช่างภาพที่ทำแบบนั้นจะไม่เก่งนะ เพราะจุดประสงค์และการนำไปใช้งานของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ผมถ่ายภาพแต่ละทริปเยอะมาก ขืนทำแบบนั้นคงไม่ไหวจริงๆ

ประเด็นเรื่องการแต่งภาพ ผมอยากขยายความให้เข้าใจมากขึ้นนะครับ … ปกติแล้วกล้องทุกตัวจะมีการปรับแต่งภาพอยู่แล้วหลังจากที่เราถ่าย ถ้าสังเกตุดูกล้องแทบทุกรุ่นจะมีโหมดสีให้เลือกไม่ว่าจะเป็นโหมดมาตรฐาน, ภาพบุคคล, ภาพวิว ฯลฯ ซึ่งการใช้ตัวเลือกเหล่านี้ก็คือการบอกให้กล้องปรับแต่งภาพตามสูตรที่ติดมากับกล้องนั้นๆ เช่นภาพบุคคลก็จะเน้นไปที่ skin tone ถูกต้อง contrast ไม่สูงเกินไป ส่วนภาพวิวก็อาจจะเน้นเครื่องความคมชัด สีสันที่จัดจ้านขึ้นโดยเฉพาะโทนสีฟ้าและเขียวเป็นต้น โดยกล้องแต่ละยี่ห้อแต่ละรุ่นก็จะมีสูตรตรงนี้แตกต่างกัน … สำหรับผมจะไม่ได้ใช้สูตรที่ติดมากับกล้องเลย แต่จะภาพถ่ายมาใน format RAW ซึ่งไม่มีการปรุงแต่งใดๆ แล้วนำมาเข้าโปรแกรม Lightroom เพื่อปรับโทนสีและแสงของภาพด้วยสูตรของผมเอง  ซึ่งมีทั้งแบบนุ่มนวล จัดจ้าน ดุดัน ขึ้นอยู่กับความต้องการในการเอาไปใช้งาน

เพื่อให้เห็นภาพ ผมอยากจะยกตัวอย่างแบบง่ายๆ ให้เห็นตามภาพด้านล่างนี้

ภาพนี้สภาพแสงค่อนข้างสม่ำเสมอไม่ซับซ้อนนัก  … ภาพแรกจำลองภาพที่ได้จากการใช้โหมดสีมาตรฐานของกล้อง

ภาพถัดมาเป็นโหมดสีของกล้องสำหรับภาพธรรมชาติ (landscape) … จะสังเกตเห็นว่าโทนสีสดขึ้นและ contrast มากขึ้น

ภาพสุดท้ายเป็นสไตล์งานแบบที่ผมชอบ โดยเฉพาะวันที่ฟ้าครึ้มมีเมฆเยอะผมมักจะเลือกวิธีการ process  แสงแบบนี้ซึ่งจะมาทำในโปรแกรม Lightroom

จะเห็นได้ว่าสามารถใช้ค่าที่ติดมากับกล้องก็ได้ภาพที่สวยเพียงพอแล้ว (ภาพที่ 2) แต่บางครั้งผมเลือกที่จะนำมา process ให้ภาพดูสะดุดตามากยิ่งขึ้น และได้อารมณ์ตรงกับความรู้สึกตอนที่ถ่ายภาพ (หลายๆ คนก็ไม่ชอบแนวนี้นะ) … อย่างภาพนี้ตอนไปที่นี่ผมตื่นเต้นมาก รู้สึกว่าธรรมชาติมันมหัศจรรย์เหลือเกิน เหมือนดินแดนในฝันก็เลยคิดว่าโทนของภาพที่น่าจะเหมาะคือ contrast สูงๆ แบบภาพที่ 3

ขอยกตัวอย่างอีกสักภาพ … ในบางกรณีภาพหลังกล้องแทบไม่มีทางได้อย่างที่ตาเห็นหรืออย่างที่เราต้องการเลย เช่นการถ่ายภาพย้อนแสงตรงๆ โดยฉากหน้าและฉากหลังมีสภาพแสงที่แตกต่างกันมาก สูตรที่กล้องใช้อาจจะทำให้บริเวณใดบริเวณหนึ่งได้รับแสงที่พอดีแต่ในขณะเดียวกันอีกจุดหนึ่งจะสูญเสียรายละเอียดไป เช่น ท้องฟ้าแสงพอดี ฉากหน้าที่อยู่ในเงาก็จะมืดมาก ถ้าส่วนในเงามืด ฟ้าก็จะสว่างเกินไปจนขาดความสวยงาม

ภาพนี้ฟ้าสีสวยตามต้องการแต่ฉากหน้ามืดเกินไป

ภาพนี้เห็นรายละเอียดของฉากหน้า แต่ฟ้าสว่างเกินไปจนขาดสีสัน

ภาพนี้คือภาพที่ผ่านการ process โดยให้ software แก้ไขเรื่อง perspective ของอาคารและผมปรับแสงในส่วนสว่างกับส่วนมืดให้ได้อย่างที่ต้องการ

ทั้งนี้การที่จะสามารถดึงรายละเอียดได้มากน้อยขนาดไหน ก็ต้องขึ้นกับความสามารถของกล้องด้วย และนี่คือคำตอบว่าทำไมต้องยอมลงทุนซื้อกล้องแพงๆ เพราะจะทำงานในกรณีแบบนี้ได้ดีกว่า … อย่างไรก็ตามกล้องรุ่นใหม่ๆ มีการปรับปรุงความสามารถในด้านนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โหมด HDR ในกล้องหลายตัวหรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ สามารถให้ภาพที่สมดุลระหว่างส่วนมืดและส่วนสว่างได้อย่างไม่น่าเชื่อโดยไม่ต้องผ่านการ post process เลย

และนี่คือคำสารภาพของนายมดในเรื่องกล้องและการแต่งภาพ หวังว่าบทความที่เขียนมาข้างต้น คงทำให้เพื่อนๆ ที่กำลังศึกษาเรื่องการถ่ายภาพและการตกแต่งภาพได้เข้าใจที่มาของภาพถ่ายได้มากขึ้น ขอออกตัวอีกครั้งว่านี่เป็นแนวทางส่วนตัวของผมเอง ไม่ได้หมายความว่าดีที่สุดหรือดีสำหรับทุกคน ขอให้เลือกที่จะนำไปใช้เฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ นะครับ

สุดท้ายถ้าชอบงานแนวนี้ก็ตามผลงานกันได้ครับที่ เพจ @นายมด หรือ follow ig ของนายมดที่ @9mot ครับ


4 Comments

  1. สายลม

    สุดยอดครับ ความรู้และประสบการณ์ดีๆเลยนะเนี่ย

  2. นายมด

    นายมด: ขอบคุณมากๆ ครับ เป็นกำลังใจอย่างดีสำหรับคนทำเวปอย่างผมเลย

    ขอบคุณมากตรับ ผมไม่ใช่ช่างกล้องอะไร แต่ภาพของคุณมด นี่ผมตามมาใน เฟสฯ สวยงามมากผมชอบเวลาเราขยายภาพให้รายละเอียดชัดเจน ทุกอนู เลย มุมที่ถ่าย จังหวะสถานที่ ตามที่คุณมด กล่าว เยี่ยมครับ ติดตามครับ ขอบคุณมากครับ

  3. Suphasith P.

    ขอบคุณมากตรับ ผมไม่ใช่ช่างกล้องอะไร แต่ภาพของคุณมด นี่ผมตามมาใน เฟสฯ สวยงามมากผมชอบเวลาเราขยายภาพให้รายละเอียดชัดเจน ทุกอนู เลย มุมที่ถ่าย จังหวะสถานที่ ตามที่คุณมด กล่าว เยี่ยมครับ ติดตามครับ ขอบคุณมากครับ