Select Page

“คนติดเล่า” ตอนที่ 9 – “โครคัส” เจ้าหญิงบนผืนหญ้า

คนติดเล่าวันนี้จะมาแนะนำให้รู้จักกับดอกไม้เมืองหนาวอีกหนึ่งชนิดที่ชื่อว่า “โครคัส” หรือถ้าจะเทียบเคียงกับบ้านเราก็ประมาณดอก “บัวดิน” นั่นเอง …​ โครคัสเป็นไม้ประเภทหัวที่พบได้ทั่วไปในประเทศเขตหนาว ซึ่งดอกของมันจะบานตอนปลายฤดูหนาวหรือต้นฤดูใบไม้ผลิ มีสีและสายพันธุ์หลากหลาย แต่ที่พบได้มากคือสีม่วง,สีขาวและสีเหลือง

ดอกโครคัสนั้นมักจะบานพร้อมๆ กัน และในบางแห่งที่มีต้นโครคัสหนาแน่นก็จะเกิดเป็นภาพผืนพรมดอกไม้ขนาดใหญ่สวยสดงดงามมาก … ผมเคยเห็นภาพของแฟนเพจซึ่งถ่ายที่ประเทศสโลเวนียส่งมาให้ชม เป็นทุ่งดอกโครคัสมีฉากหลังเป็นภูเขาที่เต็มไปด้วยหิมะ แค่เห็นก็ตาลีตาเหลือกหาข้อมูลเลยว่าสถานที่นั้นอยู่ตรงไหน เพราะอยากไปเห็นกับตาสักครั้ง

นอกจากความสวยงามแล้วดอกโครคัสยังนิยมนำไปปลูกในกระถางเพื่อประดับบ้าน ชาวโรมันนำไปปลูกบนหลุมฝังศพเพราะเชื่อว่าทำให้ผู้ตายได้ไปจุติใหม่ และในคืนส่งตัวบ่าวสาวจะวางดอกโคสคัสไว้บนเตียงเพราะเชื่อว่ากลิ่นของมันเป็นยาโป๊วอย่างดี … ส่วนชาวอียิปต์นำเกสรสีเหลืองไปทำสีย้อมผ้า แต่เนื่องจากแต่ละต้นให้สีแค่นิดเดียว การจะย้อมผ้าได้ทั้งผืนจึงต้องใช้โครคัสกว่า 6000 ดอก ผ้าที่ย้อมด้วยสีจากเกสรของโครคัสจึงมีราคาแพงมาก

ในทางการแพทย์พบว่าละอองของโครคัสช่วยให้คนอารมณ์ดี (เฮ้ย นี่มันกัญชาชัดๆ) รักษาโรคดีซ่าน, หัด, โรคลมบ้าหมู, โรคซึมเศร้า รวมถึงดมแก้อาการเมาคลื่น เมาเหล้าได้ด้วย … ภายหลังยังพบสารสกัดจากดอกโครคัสที่ช่วยรักษาโรคเก๊าต์และใช้อยู่ระยะหนึ่งจนพบว่าเกิดผลข้างเคียงกับคนไข้จึงหยุดใช้ไปในปัจจุบัน

เรียบเรียงจาก
https://www.facebook.com/pg/FloralDisplays/photos/?tab=album&album_id=245300918940015