Select Page

3 สาเหตุภาพถ่ายไม่ชัด-ภาพไหว-ภาพมัว และ วิธีแก้ไข

บ่อยครั้งที่นักถ่ายภาพมือใหม่พบปัญหาภาพถ่ายไม่ชัด  แต่ก็ไม่ทราบสาเหตุ บางครั้งกว่าจะรู้ตัวก็ตอน Load ภาพเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพราะตอนมองผ่านจอ LCD ของกล้องนั้นภาพจะเล็กทำให้ไม่เห็นว่าภาพเบลอ จะถ่ายซ่อมก็ไม่ทันเสียแล้ว ดังนั้นทางที่ดีที่สุดก็คือการเรียนรู้ว่าภาพไม่ชัดหรือภาพเบลอนั้นเกิดจากสาเหตุใดบ้าง

 blur031.jpg

1. โฟกัสไม่ชัด
“กล้องตัวนี้มีระบบโฟกัสอัตโนมัติ แต่ทำไม่ยังโฟกัสไม่ชัดอีกล่ะเนี่ย 🙁 ” มักเป็นคำที่ผมได้ยินบ่อย ๆ จากนักถ่ายภาพมือใหม่  ถึงแม้กล้องถ่ายภาพจะมีระบบดังกล่าวมาให้แต่เราต้องเข้าใจหลักการทำงานด้วยมิฉะนั้นกล้องก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง  กล้องส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะโฟกัสบริเวณกลางภาพ หรือสามารถเลือกจุดโฟกัสได้ตามต้องการโดยจะมีกรอบสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ในช่องมองภาพสำหรับเลือกบริเวณที่จะโฟกัส ปัญหาที่มักเกิดขึ้นคือวัตถุที่ต้องการถ่ายไม่ได้อยู่กลางภาพแต่กล้องเลือกที่จะโฟกัสสิ่งที่อยู่กลางภาพ ทำให้โฟกัสผิดพลาด  

วิธีแก้ไข คือใช้ระบบ lock focus คือเลื่อนตำแหน่งกล้องให้วัตถุที่ต้องการโฟกัสอยู่กลางภาพก่อน แล้วทำการกดชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งเพื่อเป็นการ Lock Focus (กล้องอาจจะมีเสีย Beep หรือมีไฟสีเขียวแสดงว่าทำการโฟกัสแล้ว)  หลังจากนั้นให้กดค้างไว้แล้วขยับกล้องไปยังตำแหน่งที่ต้องการจึงกดชัตเตอร์ลงจนสุด เท่านี้ภาพก็จะชัดในจุดที่เราได้ทำการ lock focus ไว้  แต่ถ้าเผลอไปปล่อยชัตเตอร์ต้องกลับไปเริ่มทำใหม่ตั้งแต่ต้นนะครับ

บางกรณีกล้องอาจะไม่สามารถหาโฟกัสได้เช่น กรณีอยู่ในที่มืดมาก ๆ, วัตถุที่จะถ่ายเป็นผนังสีเดียว, วัตถุที่จะถ่ายมีลักษณะเป็นเส้นวางในแนวนอน  หากเกิดปัญหาไม่สามารถโฟกัสได้  ให้เลือกระบบ manual focus หรือหันกล้องไปโฟกัสวัตถุอื่นที่อยู่ในระยะห่างเท่า ๆ กันแล้ว lock focus ก่อนที่จะเลื่อนกล้องมายังตำแหน่งที่ต้องการ สำหรับกรณีที่ภาพถ่ายมีลักษณะเป็นเส้นในแนวนอน (เช่นผนังทาสี 2 สี ด้านล่างสีดำ ด้านบนสีแดง) ให้ลองเลื่อนจุดโฟกัสไปตรงรอยต่อระหว่างสี แล้วลองโฟกัสดู ถ้ายังไม่สามารถโฟกัสได้ให้หมุนกล้องเป็นแนวตั้งก่อนแล้วกดชัตเตอร์เพื่อหาโฟกัส เนื่องจากกล้องส่วนใหญ่จะวาง sensor ให้สามารถโฟกัสวัตถุที่มีระนาบในแนวตั้งได้ดีกว่าแนวนอนครับ

** กล้องในปัจจุบันฉลาดขึ้นมาก  บางรุ่นสามารถตรวจจับตำแหน่งใบหน้าคนได้ทำให้ปัญหาการโฟกัสไม่ชัดกรณีถ่ายภาพบุคคลลดลงได้มาก แต่คงจะดีกว่านะครับถ้าเราเข้าใจเรื่องการ lock focus และสามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง **

blur02.jpg

2. ภาพไหวเบลอ
ปัญหานี้มักเกิดในกรณีที่ความเร็วชัตเตอร์ของภาพต่ำเกินไป เช่น ถ่ายภาพในช่วงเย็น-ในร่ม, ถ่ายภาพกับแสงไฟกลางคืน  ปัญหาอาจเกิดจากผู้ถ่ายถือกล้องไม่นิ่งพอ หรือเกิดจากวัตถุที่ถ่ายเคลื่อนไหวขณะถ่ายภาพ หรืออาจเกิดจากทั้งสองสาเหตุพร้อม ๆ กันเลยก็ได้  ความเร็วชัตเตอร์ที่สามารถ่ายได้โดยไม่ต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วยคือตั้งแต่ 1/60 วินาทีหรือสูงกว่านี้ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดเลนส์ที่ใช้ด้วย ถ้าเป็นเลนส์ Tele ตั้งแต่ 100 mm. ขึ้นไปความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะคือ 1/125 วินาทีหรือสูงกว่นั้น)  หากต่ำกว่านี้อาจทำให้ภาพที่ถ่ายไหวเบลอได้  ควรใช้ขาตั้งกล้องช่วยด้วยเสมอ ถึงแม้ใช้ขาตั้งกล้องแล้วบางครั้งต้องบอกให้ตัวแบบอยู่นิ่ง ๆ ด้วย มิเช่นนั้นภาพก็จะเบลอได้เช่นเดียวกัน

สำหรับกล้อง compact หรือกล้องระบบอัตโนมัตินั้นจะเจอปัญหานี้ได้เช่นเดียวกันเมื่อเลือกกถ่ายภาพในโหมด night shot เพราะกล้องจะเปิดรับแสงนาน (ความเร็วชัเตอร์ต่ำ) เพื่อเก็บสภาพแสงธรรมชาติ ดังนั้นจึงต้องใช้ขาตั้งกล้องด้วยเช่นเดียวกัน

 blur01.jpg

3. ชัดเป็นบางส่วนบางส่วนเบลอ
ภาพที่เราถ่ายจะมีช่วงความชัดขึ้นอยู่กับขนาดรูรับแสง  รูรับแสงยิ่งเล็กก็จะยิ่งทำให้ภาพชัดลึก (ช่วงความชัดกว้าง) ในทางตรงข้ามถ้ารูรับแสงกว้าง ช่วงชัดลึกก็จะน้อย ปัญหานี้จึงมักเกิดจากการเลือกรูรับแสงที่กว้างเพื่อถ่ายภาพวัตถุที่มีระยะห่างจากกล้องต่างกันมาก เช่น ถ่ายภาพคนยืนแถวตอน อาจจะชัดเฉพาะคนที่กล้องโฟกัสแต่คนที่อยู่หน้า หรือหลังจากนั้นก็จะเบลอ ยิ่งห่างจากจุดโฟกัสมากเท่าไรก็ยิ่งเบลอมากขึ้นเท่านั้น วิธีแก้ไขคือเลือกรูรับแสงแคบลง (ตัวเลขสูง ๆ เช่น f8, f11, f16 เป็นต้น) แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นแสงจะเข้าสู่กล้องน้อยลงต้องชดเชยด้วยการลดความเร็วชัตเตอร์ต่ำลง (เพิ่มเวลาในการรับแสง) ซึ่งอาจทำให้ภาพไหวได้ตามที่ได้กล่าวถึงแล้วในข้อ 2 ดังนั้นจึงต้องหาค่าที่เหมาะสมที่สุด ถ้าปรับรูรับแสงแล้วความเร็วชัตเตอร์ต่ำเกินกว่าที่จะใช้มือถือได้ (ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่า 1/60 วินาที) ให้ทำการเพิ่มความไวแสงของกล้องให้สูงขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่ควรสูงเกิน ISO 400 เพื่อให้คุณภาพของภาพออกมาดีที่สุด

สำหรับกล้อง compact เราสามารถเลือกโหมดถ่ายภาพทิวทัศน์เพื่อถ่ายภาพที่ต้องการช่วงความชัดของภาพกว้างมาก ๆ เพราะในโหมดดังกล่าวกล้องจะพยายามเลือกรูรับแสงที่แคบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นั่นเอง

ใครมีเทคนิคดี ๆ หรือมีคำถามคาใจก็ comment ได้นะครับ  ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าภาพถ่ายที่เบลอหรือไม่ชัด จะไม่ใช่ภาพที่ดีทั้งหมดนะครับ บางครั้งช่างภาพอาจใช้ความเบลอในการสื่อถึงการเคลื่อนไหวก็เป็นได้  หรืออาจจะเลือกช่วงโฟกัสที่แคบมาก ๆ เพื่อให้วัตถุที่ต้องการถ่ายโดดเด่นเฉพาะจุด ดังนั้นสิ่งที่สำคัญมากกว่าความชัดก็คือสิ่งที่ต้องการจะสื่อและอารมณ์ของภาพครับ 🙂