Select Page

9 ข้อผิดพลาดของนักถ่ายภาพมือใหม่

วันนี้ขอยกตัวอย่าง 9 ข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นเสมอกับนักถ่ายภาพมือใหม่  ไม่ว่าจะใช้กล้อง Digital ธรรมดา หรือกล้อง Digital SLR ก็ตาม 

1. การตั้งความละเอียดของภาพจากกล้อง Digital สูงเกินไป
มือใหม่หลายคนมักเลือกซื้อกล้อง Digital ที่มีความละเอียดสูง ๆ เพราะคิดว่าน่าจะได้ภาพที่คมชัดสมจริงและดีกว่ากล้อง Digital ที่มีความละเอียดต่ำกว่า  ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกเพียงครึ่งเดียว  เพราะความละเอียดที่บอกเป็น Megapixel นั้นไม่ได้เป็นตัวแปรเพียงอย่างเดียวของภาพที่ออกมา  ยังมีตัวแปรอื่น ๆ อีกมากที่ส่งผลต่อคุณภาพของภาพถ่าย อาทิ คุณภาพของเลนส์, คุณภาพของโปรแกรมประมวลผลภาพเป็นต้น  ที่สำคัญมือใหม่หลายคนเลือกที่จะตั้งความละเอียดให้สูงที่สุดในการถ่ายภาพ 😮   ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้พื้นที่ในการเก็บภาพมาก  ทำให้จำนวนภาพที่ถ่ายได้น้อยเป็นเงาตามตัว  หลายๆ  คนก็เลยเลือกที่จะซื้อ memory card ขนาดใหญ่ หรือซื้อหลาย ๆ อันเพื่อให้เก็บภาพได้จำนวนมาก  ซึ่งก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ในความเป็นจริงแล้ว เราควรเลือกความละเอียดของภาพให้เหมาะสมโดยพิจารณาจาก output ที่ต้องการ  อาทิ ต้องการนำไปอัดภาพขนาด Jumbo (4″x6″)  ความละเอียดเพียง 2MP หรือ 3MP ก็เพียงพอแล้ว การถ่ายภาพที่ความละเอียดสูงกว่านั้นไม่ได้ส่งผลให้อัดภาพออกมาชัดขึ้น  (ยกเว้นว่าเราจะนำไปขยาย)  ส่วนการอัดภาพขนาด 8″x10″ นั้นความละเอียดที่เหมาะสมคือ 4MP หรือ 5MP  ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะทำให้เราไม่ต้องเสียพื้นที่ในการเก็บภาพมากเกินความจำเป็นแล้ว  ยังช่วยประหยัดค่าซื้อ memory ด้วย   ที่สำคัญเวลาไปถ่ายภาพเพลิน ๆ ถ้าตั้งความละเอียดสูงเกินไป  เกิด memory เต็มขึ้นมาอาจพลาด shot เด็ดไปเลยก็ได้ เพราะจะมัวมานั่งลบภาพอยู่ก็อาจไม่ทันการณ์ 

หมายเหตุ การตั้งความละเอียดเป็นคนละส่วนกับการตั้งระดับคุณภาพของภาพนะครับ  หากเราต้องการคุณภาพของภาพสูง  จำเป็นต้องตั้งคุณภาพของภาพให้ดีที่สุดเสมอครับ (ระดับคุณภาพของกล้อง มักจะกำหนดเป็น fine, best, super fine อะไรประมาณนี้  ก็เลือกอันที่สูงสุดไปเลยครับเพื่อให้คุณภาพของภาพออกมาดีที่สุด)

2. โฟกัสภาพไม่ชัด
สิ่งที่พบได้บ่อย ๆ กับมือใหม่ที่คิดว่ากล้องระบบอัตโนมัติน่าจะถ่ายภาพได้ชัดนั้นมักเกิดขึ้นเสมอ  หลาย ๆ คนพอดูภาพที่อัดออกมาแล้วก็บ่นว่าทำไมมันไม่ชัดเลย กล้องซื้อมาแพงเสียเปล่า เอ้า…ไปโทษกล้องซะนั่น  

เนื่องจากกล้องส่วนใหญ่จะมีระบบการปรับโฟกัส โดยหาโฟกัสจากวัตถุที่อยู่กลางภาพ  ดังนั้นหากแบบหรือวัตถุที่เราถ่ายไม่อยู่กลางภาพแล้วล่ะก็  โอกาสที่ภาพที่ออกมาจะไม่ชัดจะมีสูง (เช่นกรณที่ถ่าพภาพคนคู่กัน อยู่ด้านซ้ายและขวาของภาพ  กล้องอาจไปโฟกัสฉากหลังซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 คน)   วิธีการแก้ไขก็ไม่ได้ยากอะไรครับ  เพียงเลื่อนตำแหน่งกล้องให้ตัวแบบหรือวัตถุที่ต้องการถ่ายอยู่กลางภาพ  กดชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง เพื่อเป็นการ lock focus และกดค้างไว้ (อย่าเพิ่งปล่อยนะครับ)  หลังจากนั้นก็เลื่อนกล้องไปยังตำแหน่งที่ต้องการแล้วกดชัตเตอร์ลงไปจนสุดเพื่อเป็นการถ่ายภาพ  (ส่วนใหญ่กล้องจะแสดงไฟสัญญาณสีเขียว หรือเป็นกรอบสีแดงค้างไว้ในขณะที่เรา Lock focus)   แต่สำหรับกล้องรุ่นใหม่ๆ บางตัวจะมีระบบค้นหาหน้านางแบบโดยอัตโนมัติ หรือมีจุดค้นหาโฟกัสหลายจุดก็จะช่วยแก้ปัญหาไปได้ในระดับหนึ่งครับ

** Tips **
การถ่ายภาพคนให้ดูชัดนั้น  ให้เลือกโฟกัสที่ดวงตาเสมอนะครับ เพราะหากดวงตาไม่คมชัดแล้วภาพนั้นจะดูแล้วเหมือนถ่ายไม่ชัดทันที

3. นิ้วไปบังเลนส์
ข้อนี้ไม่ต้องอธิบายคงพอนึกออกนะครับ  เพราะหลายๆ คนไม่ระวังตอนถือกล้อง ทำให้มีนิ้วเข้าไปโผล่ในกล้องด้วย  ตอนดูภาพจากจอ LCD อาจจะไม่เห็นเพราะมันเล็ก  แต่พออัดออกมาเห็นนิ้วเบ้อเริ่มเลย  เอาเป็นว่าให้ระวังทุกครั้งก่อนถ่ายภาพ  อย่าเอานิ้วไปบังเลนส์นะครับ

4. เลนส์สกปรก-ภาพไม่ชัด
เลนส์มีส่วนสำคัญอย่างมากกับคุณภาพของภาพถ่าย  ดังนั้นเราต้องระมัดระวังรักษาเลนส์อย่างดีอย่าให้เปื้อนในขณะถ่ายภาพ  เพราะรอยเปื้อนจะไปบดบังและเบี่ยงเบนแสงที่เข้ามายังตัวกล้อง ทำให้คุณภาพของภาพถ่ายลดลงอย่างมาก  สิ่งที่ต้องระมัดระวังไม่ให้โดนเลนส์อาทิ  นิ้วมือ (อันนี้เจอบ่อยมาก ติดเป็นคราบมันเลย), ฝุ่น  ควรหาที่เป่าลมเป่าออกเสมอ ๆ, ละอองน้ำ ซึ่งจะพบได้เมื่อถ่ายภาพในบริเวณใกล้น้ำตกหรือทะเล   ดังนั้นก่อนถ่ายภาพและขณะถ่ายภาพต้องหมั่นดูและความสะอาดของเลนส์ถ่ายภาพทุกครั้ง  โดยใช้ผ้าสำหรับทำความสะอาดเลนส์โดยเฉพาะนะครับ เพื่อให้ได้ภาพที่มีคุณภาพสูงสุด

5. ลืมชาร์จแบตเตอร์รี่
อันนี้สำคัญมาก  เพราะไม่มีแบตเตอร์รี่  กล้องเราก็จะกลายเป็นสากกะเบือทันที  ยิ่งถ้าพลาดช็อตเด็ด ๆ ล่ะก็ยิ่งอยากฆ่าตัวตาย  ดังนั้นก่อนออกถ่ายภาพทุกครั้งควรมั่นใจว่าชาร์จแบตเตอร์รี่มาจนเต็มแล้ว หรือไม่ก็พกที่ชาร์จติดตัวมาด้วยเสมอ เผื่อมีที่ให้ชาร์จได้ในยามฉุกเฉิน  วิธีหนึ่งที่ช่วยในการประหยัดไฟของแบตเตอร์รี่ได้ในช่วงแบตใกล้หมดคือ  ถ่ายภาพโดยมองภาพผ่านช่องมองภาพซึ่งทำให้ไม่ต้องเปิดจอ LCD (กล้องรุ่นใหม่ ๆ มักจะทำไม่ได้แล้วครับ ยกเว้นกล้อง SLR ซึ่งมองภาพผ่านช่องมองภาพอยู่แล้ว)  และไม่เปิดภาพที่ถ่ายแล้วขึ้นมาดูบ่อย ๆ เพราะส่วนที่กินไฟมากที่สุดส่วนหนึ่งก็คือจะ LCD ของภาพนั่นเอง, ไม่ใช้แฟลชถ้าไม่จำเป็น เพราะเป็นอีกหนึ่งตัวที่กินไฟมาก และสุดท้ายถ้าไม่จำเป็นก็ปิดกล้องไปเลยครับอย่าเปิดทิ้งไว้

6. ถ่ายภาพย้อนแสง
มือใหม่หลายคนมักคิดว่า  การถ่ายภาพย้อนแสงคือการถ่ายภาพที่มีพระอาทิตย์อยู่หลังแบบเท่านั้น  ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่  เพราะการถ่ายทุกกรณีที่แสงบนตัวแบบน้อยกว่าฉากหลังมาก ๆ ถือเป็นการถ่ายภาพย้อนแสงทั้งสิ้น เช่นตัวแบบอยู่ในร่มแต่ฉากหลังเป็นแสงวิวด้านนอกอาคาร  ซึ่งการถ่ายภาพลักษณะนี้จะทำให้ภาพที่ออกมามืดไม่สวยงาน อย่างที่ใครหลายคนมักจะบอกว่าหน้ามืดนั่นแหละครับ  วิธีแก้ก็คือใช้แพลชร่วมกับการถ่ายภาพเพื่อชดเชยแสงให้กับตัวแบบ  หรืออีกวิธีหนึ่งคือชดเชยการรับแสงให้มากขึ้นกว่าปกติ (รับแสง over)  เพื่อช่วยให้ตัวแบบได้รับแสงที่พอดีนั่นเอง  ส่วนจะต้องชดเชยแสงมากน้อยเท่าไหร่ก็ขึ้นก็สภาพแสงในขณะนั้น  ถ้าเป็นกล้อง digital ก็สามารถดูผลได้เลยหลังการถ่ายภาพครับ

7. ภาพสั่นไหว
เหตุการณ์นี้มักเกิดเมื่อถ่ายภาพในสภาพที่แสงน้อย เช่นตอนเย็น หรือถ่ายภาพตอนกลางคืนโดยไม่ใช้แฟลช   ทั้งนี้สำหรับกล้อง Digitalสามารถแก้ไขได้โดยการปรับความไวแสงของกล้องให้สูงขึ้น (ปกติ 100 หรือ 200 เพิ่มเป็น 400 หรือ 800) ก็จะช่วยทำให้ความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้น โอกาสที่ภาพจะไหวก็จะน้อยลง  แต่ผลที่ตามมาคืออาจเกิดจุดรบกวนในภาพสูงขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะกับกล้องราคาถูก 

8. ถ่ายภาพสีขาวแล้วออกมาไม่ขาว  ถ่ายภาพสีดำแล้วออกมาไม่ดำ
จุดอ่อนอย่างหนึ่งของระบบวัดแสงของกล้องคือจะถูกหลอกหากวัตถุที่ถ่ายมีสีสว่างมาก (เช่นสีขาว) หรือมืดมาก (เช่นสีดำ)   เหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีถ่ายภาพตึกสีขาวกลางแดด, ภาพของงานรับปริญญาที่บัณฑิตสวมชุดสีขาวหรือสีดำเป็นต้น

ถ้าวัตถุที่ถ่ายมีสีขาว กล้องจะนึกว่ามีแสงมาก  จึงเปิดรับแสงน้อยกว่าปกติ ทำให้สีขาวที่ได้จะดูหม่น ๆ ออกไปทางสีเทาดูแล้วไม่สวย  วิธีแก้สำหรับการถ่ายภาพวัตถุสีขาวก็คือชดเชยแสงให้ over ขึ้นอีกเล็กน้อยราว 1-1.5 stop  แล้วแต่สถานการณ์  ในทางตรงข้ามถ้าวัตถุที่ถ้ายมีสีดำ  กล้องจะนึกว่ามีแสงน้อย ก็เลยเปิดรับแสงนานเกินไป  วัตถุที่ควรจะเป็นสีดำก็เลยกลายเป็นสีเทา  ทำให้ภาพดูแล้วสีไม่อิ่มตัว  วิธีแก้ก็ให้ทำในทางตรงข้ามคือปรับแสงให้ under ลงราว ๆ 1-1.5 stop ก็จะทำให้สีของภาพสวยสมจริงขึ้นครับ

9. สีเพี้ยน
มักเกิดจากการถ่ายภาพในสภาพแสงที่ไม่ใช่แสงปกติ  เช่นถ่ายภาพในร้านอาหารที่ใช้ไฟทังเสตน, ถ่ายภาพภายใต้หลอดฟลูออเรสเซนต์, ถ่ายภาพในวันที่มีเมฆมาก เป็นต้น   ทั้งนี้เนื่องจากกล้องบางตัวถูกกำหนดให้ปรับสีโดยอ้างอิงจากแสงธรรมชาติ (daylight)  เมื่อสภาพแสงในขณะนั้นเปลี่ยนไปก็จะทำให้ภาพที่ออกมาสีไม่ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น  วิธีแก้ไขคือให้ตั้งโหมดสมดุลแสงขาว (white balance) ให้เป็นระบบ auto เพื่อให้กล้องคำนวณสมดุลสีโดยอัตโนมัติ, ถ้าภาพที่ถ่ายยังออกมาสีเพี้ยนให้ลองเลือกจากชุดสีที่มีให้ในกล้องให้ตรงกับสภาพที่เราถ่ายจริง เช่น ถ่ายภาพใต้แสงไฟทังเสตนก็ให้เลือกโหมดสมดุลแสงขาวไฟทังเสตน  ถ้าถ่ายแล้วยังเพี้ยนอีก (เพราะบางคร้งเป็นแสงหลายแบบผสมกัน)  ให้ใช้กระดาษสีขาวเป็นตัวกำหนด custom white balance ให้กับกล้อง  เพื่อให้กล้องใช้วัตถุสีขาวดังกล่าวเป็นตัวเปรียบเทียบเพื่อหาค่าสมดุลแสงขาวที่ถูกต้องนั่นเอง  วิธีนี้จะแม่นยำมากที่สุดแต่อาจต้องอ่านคู่มือประกอบด้วยเพราะค่อนข้างจะยุ่งยากสำหรับมือใหม่  แต่ก็คุ้มค่าที่จะศึกษาเพราะจะทำให้ภาพของเราออกมาสวยงามเป็นธรรมชาติมากที่สุดครับ

ได้ทราบข้อผิดพลาดทั้ง 9 ข้อไปแล้ว  หวังว่านักถ่ายภาพมือใหม่ทุกท่านคงนำไปใช้ประโยชน์ในการถ่ายภาพของท่านให้สวยงามเหมือนมือโปรได้นะครับ 🙂