Select Page

ถ่ายภาพการแสดงบนเวทีให้มีสีสัน

สวัสดีครับ … วันนี้ผมมีเทคนิคการถ่ายภาพเล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝากอีกแล้ว  หลังจากที่เมื่อคืนที่ผ่านมาได้ไปร่วมงานของบ้านหลังที่สองของผม (มิใช่บ้านเล็กบ้านน้อย แต่อย่างใด มิต้องตกใจ อิอิ)  งานที่ว่าคืองาน Staff Party 2010 ของ Andara Resort & Villas นั่นเอง … งานนี้จัดที่ Level Pub ในเมืองภูเก็ตครับ  ซึ่งตลอดทั้งงานก็มีการแสดงสนุก ๆ บนเวทีมากมาย  ผมก็ถือกล้องเก็บบรรยากาศในงานไปเรื่อย  และรู้สึกเบื่อ ๆ ที่ถ่ายภาพการแสดงหรือนักร้องบนเวทีโดยใช้แฟลชแล้วภาพมันดูนิ่ง ๆ ไม่มีสีสัน ไม่มีชีวิตชีวา ลองดูภาพตัวอย่างข้างล่างก็ได้ครับ

เห็นไหมครับว่าแม้บรรยากาศมันน่าจะดูสนุกสนาน แต่ภาพมันดูแข็งและนิ่งเกินไป 

ทีนี้ลองมาดูกันบ้างว่าเราจะทำยังไงให้มันมีชีวิตชีวา มีสีสันมากขึ้น  … ก็ไม่ยากครับ  ผมเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำหน่อย (อาจใช้โหมด Manual ก็ได้เพื่อความสะดวก)  โดยความเร็วชัตเตอร์อาจจะประมาณ 1/4 -1/15 วินาที  ในขณะที่ผมกดชัตเตอร์ผมก็จะหมุนซูมตามไปด้วยอย่างรวดเร็ว  วิธีการนี้นอกจากจะทำให้กล้องสามารถรับแสงสีสวย ๆ จากฉากหลังได้มากขึ้นแล้ว ยังทำให้ภาพดูมีความเคลื่อนไหว ดูสนุกสนานมากขึ้นด้วยดังตัวอย่างต่อไปนี้

เป็นไงครับ  ดูสนุกขึ้นเยอะเลยใช่ไหม … แต่วิธีการนี้ก็ต้องระมัดระวังครับ  เพราะจะเหมาะในกรณีที่ไม่มีแสงไฟ spot light ส่องมาที่ตัวแบบ  เพราะถ้ามีแสงที่ตัวแบบมาก  กล้องจะบันทึกแสงเหล่านั้นในปริมาณที่มากพอ ๆ กับแสง back ground ด้านหลังทำให้ตัวแบบเิกิดภาพซ้อนกันหรือดูเบลอไปเลยดังตัวอย่างต่อไปนี้

เทคนิคนี้อาจจะนำไปใช้ในการถ่ายภาพบรรดาแฟนเพลง ที่กำลัง dance มัน ๆ อยู่ล่างเวทีก็ได้นะครับ  โดยพยายามเล็ง back ground ที่มีแสงสีสวย ๆ ครับ … ลองดูตัวอย่างภาพอื่น ๆ ได้เลยครับ

แถมให้นิดนึงเรื่องการปรับตั้งค่าของกล้องในการถ่ายภาพการแสดงบนเวที … ควรเลือกใช้ความไวแสง ISO 400 เพื่อให้เพียงพอกับการรับแสงสีอันสวยงามบรรยากาศในงาน เพราะถ้าตั้งความไวแสงต่ำกว่านี้ก็จะได้ภาพที่มืดๆ ไม่ได้บรรยากาศ  ความจริงแล้วจะตั้งความไว้แสงสัก ISO 800 ก็ได้ครับถ้ากล้องของคุณเป็นกล้องรุ่น high end หรือ DSLR ที่ไม่มี Noise เมื่อเลือกค่าความไวแสงสูง ๆ

ส่วนรูรับแสงให้เลือกกว้างที่สุดเท่าที่เลนส์หรือกล้องจะทำได้ครับ  … ส่วนความเร็วชัตเตอร์นั้นเลือกใช้ตามความเหมาะสม  กรณีที่มีไฟ spot light ส่องที่ตัวแบบ  อาจะเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/60 เพื่อให้ตัวแบบไม่สั่นไหว  หรือถ้าไม่มี spot light ส่องแต่ใช้ flash ช่วยก็สามารถลดความเร็วชัตเตอร์ลงได้อีกเพื่อเก็บบรรยากาศโดยรอบแล้วให้ตัวแบบรับแสงจากแฟลชซึ่งไม่ต้องห่วงว่าภาพจะสั่นไหว เพราะช่วงเวลาที่แฟลชทำงานนั้นสั้นมาก ๆ

วันนี้ขอจบแค่นี้นะครับ ขอให้สนุกกับการถ่ายภาพครับ


4 Comments

  1. lovetwovillas

    ขอบคุณที่มีเทคนิคดี ๆ มาแบ่งปันนะคะโดยไม่หวงความรู้เลย คงได้ใช้เทคนิคนี้ในงานปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

  2. Bunlerd : Professional video-camera-bestseller

    ว้าว… แหล่มเลยครับ กำลังมองหาเทคนิคใหม่ๆ สำหรับถ่ายภาพงานปาร์ตี้ปีใหม่พอดี ขอบคุณมากๆ ครับ