Select Page

ถ้วยกาแฟ

ที่มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง แห่งหนึ่งของสยามประเทศ บรรดาศิษย์เก่าที่จบจากสถาบันนี้ แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพมีชื่อเสียงในวงสังคมตามวงการต่างๆ มากมาย มีทั้งที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และที่กระท่อนกระแท่นยังดิ้นรนอยู่ในหน้าที่การงานก็เยอะ

เนื่องในวาระที่อาจารย์พ่อซึ่งเป็นที่เคารพของศิษย์เก่าทุกคน เกษียณอายุ บรรดาศิษย์เก่าจึงถือเป็นโอกาสดีที่จะกลับไปเยี่ยมสถาบัน เพื่อเลี้ยงสังสรรค์และรำลึกถึงอาจารย์พ่อ

หลังจากกินเลี้ยงกันมาได้พักใหญ่ วงสนทนาก็เริ่มเปลี่ยน ไปเป็นการบ่นพร่ำเกี่ยวกับความเครียด ในการทำงานและปัญหาชีวิต แต่ละคน มีปัญหาแตกต่างกันออกไปมากบ้างน้อยบ้าง อาจารย์พ่อฟังปัญหาของลูกศิษย์ทุกคนอย่างตั้งใจ รับฟังโดยไม่มีคำวิจารณ์ หรือนำเสนอความเห็นของอาจารย์เลยแม้แต่น้อย

เมื่อฟังปัญหาของลูกศิษย์จบทุกคน อาจารย์พ่อเสนอเลี้ยงกาแฟกลุ่มลูกศิษย์เก่า ท่านเดินเข้าไปในครัว และออกมาพร้อมกับกาแฟเหยือกโตและถ้วยกาแฟ แบบต่างๆ บ้างเป็นถ้วยกระเบื้องบ้าง เป็นถ้วยพลาสติก และบ้างทำด้วยแก้ว มีถ้วยกาแฟหลายใบที่เป็นแบบพื้นๆ ธรรมดา บางใบ สวยวิจิตรสูงค่า

“อาจารย์ ชงกาแฟใส่เหยือกมาให้แล้ว พวกเธอจัดการรินใส่แก้วดื่มกันเองนะ” บรรดาลูกศิษย์ มองถ้วยกาแฟหลากหลาย ด้วยความสนใจ แล้วพากันเลือกถ้วยกาแฟพร้อมๆ กับรินกาแฟออกมาจากเหยือกใส่ถ้วยต่างกันออกไปเอามือไว้

เมื่อลูกศิษย์ทุกคนต่างมีถ้วยกาแฟในมือกันทุกคน แล้วอาจารย์พ่อ กล่าวว่า

” ลองดูถ้วยกาแฟในมือของพวกเธอ กับถ้วยกาแฟที่เหลืออยู่ในถาดซึ่งไม่มีคนเลือกสิ ”

” สังเกตกันรึเปล่า…. ถ้วยสวย ๆ แพง ๆ ถูกเลือกไปหมด เหลือไว้แต่ถ้วยแบบธรรมดาราคาถูก ”

” เป็นเรื่องปกติ…ที่พวกเรามักจะเลือก สิ่งที่ดีที่สุดโดยลืมคิดถึงความต้องการที่แท้จริงของเราและ นี่คือที่มาของความเครียดและปัญหาทั้งหลายในชีวิต ”

“ความจริงวันนี้สิ่ง ที่พวกเราต้องการแท้จริงคือกาแฟ ไม่ใช่ถ้วยกาแฟ แต่จิตสำนึกกลับ นำพาเราไปเลือกที่ถ้วย มิหนำซ้ำยังคอยชำเลืองมองถ้วยของคนอื่นๆ อีกด้วย

หากชีวิตคือกาแฟ หน้าที่การงาน ตำแหน่งต่างๆ ในสังคม ก็คือ ถ้วยกาแฟ มันเป็นเพียงเครื่องมือ อุปกรณ์ช่วยหยิบจับหรือประคองชีวิตของเรา มันไม่ได้ทำให้เนื้อหาจริงๆ ของชีวิต เปลี่ยนไป บางครั้ง….การมัวเพ่งที่ถ้วยใส่กาแฟ มันก็จะทำให้เราลืมใส่ใจกับรสชาติของตัวกาแฟ ”

” ถ้ารู้จักชีวิตที่แท้จริง….ของหรือตำแหน่งหน้าที่ มันก็แค่ส่วนเคลือบ ไม่ใช่เนื้อหาหรือแก่นแท้ที่สำคัญของชีวิต”


1 Comment

  1. Bird Jirat

    ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ