Select Page

มาเลือกเลนส์คู่ใจกันเถอะ

lens.jpgความหนักใจของนักถ่ายภาพอย่างหนึ่งก็คือเมื่อเป็นเจ้าของกล้อง SLR แล้วจะเลือกเลนส์อย่างไรดี  ถ้าเป็นกล้อง Compact ทั่วไปก็อาจไม่ต้องคิดมากนักเพราะจะติดกับกล้องมาอยู่แล้ว  คงต้องเลือกกันตั้งแต่ก่อนซื้อกล้องโน่นเลย

1. Fix หรือ Zoom
เลนส์ Fix หรือเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสแน่นอน เช่น 18mm, 50mm, 105mm เป็นต้น  ส่วน Zoom คือเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสเป็นช่วงเช่น 18-55mm, 70-210mm เป็นต้น  แน่นอนว่าเลนส์ Zoom ย่อมสะดวกและคล่องตัวในการใช้งานมากกว่า และก็คงเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของช่างภาพโดยทั่วไป แต่ข้อจำกัดของเลนส์ Zoom ก็คือขนาดรูรับแสงกว้างสุดจะน้อยกว่าเลนส์ Fix และคุณภาพของเลนส์ก็มักจะด้อยกว่าเช่นเดียวกัน (ยกเว้นรุ่น Pro ที่ราคาสูงมาก ๆ)  ส่วนใหญ่ผู้ที่เลือกเลนส์ Fix มักจะเลือกด้วยเหตุผลที่จะใช้งานเฉพาะทางเช่น  เลนส์ Wide มาก ๆ สำหรับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม, เลนส์ Macro, เลนส์สำหรับถ่ายภาพบุคคล และเลนส์ Tele สำหรับถ่ายภาพกีฬาเป็นต้น

2. ยี่ห้อเดียวกับกล้องหรือเลนส์จากผู้ผลิตรายอื่น
เลนส์ภายใต้ยี่ห้อเดียวกับกล้องมักจะเป็นเลนส์ที่มีราคาสูงกว่าเลนส์ที่ช่วงทางยาวโฟกัสเดียวกันยี่ห้ออื่น ๆ  แต่ก็มักจะได้รับความเชื่อถือมากกว่า ทั้งนี้คงต้องแล้วแต่งบประมาณของผู้ซื้อด้วยเช่นเดียวกันว่าจะตัดสินใจเลือกตัวไหน  สำหรับผู้ผลิตเลนส์ขื่อดังที่เป็นที่นิยมในเมืองไทยได้แก่ Sigma, Tokina, Tamron เป็นต้น หากคุณเป็นช่างภาพสมัครเล่นหรือกึ่งอาชีพ  มีเลนส์ของยี่ห้ออิสระหลาย ๆ ตัวที่ให้คุณภาพใกล้เคียงหรือเทียบเท่าเลนส์ยี่ห้อเดียวกับกล้อง  แต่ราคาถูกว่าเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว  ลองศึกษา spec และสอบถามผู้ใช้ก่อนตัดสินใจซื้อนะครับ

ทั้งเลนส์ของยี่ห้อกล้องและเลนส์อิสระ  จะแบ่งกว้าง ๆ ออกเป็น 2 เกรด  คือเกรดสำหรับผู้ใช้ทั่วไป  ซึ่งอาจจะมีการใช้วัสดุที่ไม่แข็งแรงมากนัก, เลนส์อาจจะไม่ได้ให้คุณภาพและสีสันที่ดีที่สุด, รูรับแสงกว้างสุดอาจจะไม่กว้างมากนัก ถ้าเป็น Zoom รูรับแสงกว้างสุดจะเปลี่ยนไปตามทางยาวโฟกัสเช่น 70-210mm f4-5.6 หมายถที่รูรับแสงกว้างสุดที่ 70mm คือ f4 แต่ที่ 210mm รูรับแสงกว้างสุดจะเป็น f5.6 ถ้าเป็นเลนส์เกรดโปรรูรับแสงจะคงที่ทุกช่วงความยาวโฟกัส เช่น 80-200 f2.8  ซึ่งจะทำให้สามารถใช้งานในสภาพแสงน้อยได้ดีกว่า และเป็นการบ่งบอกว่าเลนส์ถูกเคลือบสารที่ลดการสะท้อนของแสงภายในเลนส์ทำให้เลนส์สูญเสียแสงน้อยซึ่งนั่นหมายถึงคุณภาพของภาพก็จะดีกว่าด้วยเช่นเดียวกัน  ทั้งนี้ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงกว่าอย่างมาก  ขนาดและน้ำหนักของเลนส์ก็จะมากว่าเลนส์เกรดทั่วไป

 4. คุณสมบัติพิเศษอื่น ๆ
เลนส์บางตัวอาจมีคุณสมบัติที่น่าสนใจและตรงกับความต้องการของคุณ  รวมถึงกล้องบางตัวสามารถทำงานได้ดีกับเลนส์บางตัว ดังนั้นควรศึกษาให้ดีเพื่อให้ได้เลนส์ที่เหมาะกับกล้องคุณมากที่สุด

5. ถามผู้ใช้ก่อนตัดสินใจ
ต้องขอบคุณ internet ครับที่ให้เราสามารถหาข้อมูลทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย  ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อลองอ่านความคิดเห็นของผู้ที่เคยใช้ดูนะครับว่าเลนส์ดังกล่าวมีข้อดีข้อเสียอย่างไรและจะเหมาะกับการใช้งานของเราหรือไม่  ถ้าใครถนัดภาษาอังกฤษลองดูบทความของต่างประเทศประกอบด้วยก็ดีครับ เพราะฝรั่งนั้นซื้อแล้วชอบนำมาเขียนมาวิจารณ์ (มากกว่าคนไทย)  ดังนั้นเราจะได้ทราบข้อเท็จจริงหลาย ๆ อย่างที่น่าสนใจเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจครับ

6. งบประมาณ
ไม่ว่าจะอยากได้เลนส์ดีขนาดไหน แต่สุดท้ายก็ต้องดูด้วยครับว่ามีงบประมาณเพียงพอหรือไม่  ดังนั้นก่อนที่จะเลือกซื้อเลนส์ผมแนะนำให้กำหนดงบประมาณคร่าว ๆ ครับเพื่อที่จะได้ตัด choice (ที่ไม่อยากตัด)  ออกไปก่อนทำให้เราเลือกได้ง่ายขึ้นครับ

สิ่งทีผมอยากจะย้ำคือ เลนส์เป็นสิ่งที่สำคัญมากและมีผลโดยตรงกับคุณภาพของภาพถ่ายที่ออกมา (ในมุมมองของผมแล้วเลนส์สำคัญกว่าตัวกล้องเสียอีกในแง่คุณภาพของภาพที่จะได้)  ดังนั้นเราจึงต้องศึกษาให้แน่ใจก่อนที่จะซื้อครับเพื่อให้เราได้เลนส์ที่ใช้งานได้อย่างสะดวก และได้ผลงานที่มีคุณภาพสูงสุดครับ 🙂