Select Page

การถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้น-พระอาทิตย์ตก (แบบเงาดำ)

pic2.jpg 

สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกก็คือการตั้งค่าการรับแสงของกล้อง  เพราะถ้าตั้งไม่ถูกต้องแล้วภาพอาจจะมืดมองไม่เห็นอะไรเลย  หรือไม่ก็ดูสว่างจ้าไม่เหมือนกับตาเห็น  แล้วจะถ่ายอย่างไรดีให้สวยเหมือนตาเห็น หรือ สวยกว่าที่ตาเห็น ติดตามต่อได้เลยครับ

ปกติตัวแปรหลัก ๆ ที่เป็นตัวกำหนดปริมาณแสงที่กล้องได้รับ มีอยู่ด้วยกัน 3 อย่างคือ
1. ความไวแสงของกล้อง สำหรับกล้องที่ใช้ฟิล์มคงไม่สามารถทำอะไรได้มาก ใช้ฟิล์มชนิดไหนก็คงต้องใช้ไปไม่สามารถเลือกได้ (ยกเว้นใส่ม้วนใหม่) แต่สำหรับกล้อง Digital นั้นสามารถเลือกความไวแสงของกล้องได้ ผมแนะนำว่าควรเลือกค่าความไวแสงที่ต่ำที่สุดอาจจะเป็น 100 หรือ 200 แล้วแต่รุ่นและยี่ห้อของกล้อง ทั้งนี้เพราะความไวแสงสูงจะทำให้เกิดจุดรบกวนจำนวนเมื่อต้องเปิดรับแสงเป็นเวลานาน (การถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกนั้นต้องเปิดรับแสงนานกว่าปกติ ไม่เหมาะกับการตั้งค่าความไวแสงสูง ๆ)

2. รูรับแสง สำหรับการถ่ายภาพวิวโดยทั่วไปควรตั้งรูรับแสงให้แคบเพื่อให้ภาพที่ออกมามีลักษณะชัดลึก ครอบคลุมทั้งภาพ สำหรับค่าที่เหมาะสมน่าจะอยู่ประมาณ f8-f16

จะเห็นได้ว่าตัวแปรสองตัวแรก เราสามารถกำหนดค่าได้แล้ว ที่เหลือก็มีเพียงความเร็วชัตเตอร์ (เวลาที่เปิดรับแสง) เท่านั้น ซึ่งทั้งนี้อาจใช้ระบบกึ่งอัตโนมัติ คือเราตั้งค่ารูรับแสงตามข้อ 2 แล้วให้กล้องเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมให้เอง

แต่เท่านั้นยังไม่พอครับ เพราะกล้องส่วนใหญ่จะมีระบบวัดแสงอันชาญฉลาด พยายามทำให้ภาพมีแสงที่สวยงามไม่มืดดำ ซึ่งขัดแย้งกับลักษณะภาพที่เราอยากได้เพราะเราต้องการได้ภาพที่ฉากหน้าเป็นเงาดำนั่นเอง หากให้กล้องทำงานแบบอัตโนมัติ กล้องอาจจะรับแสงมากกว่าที่เราต้องการ เพื่อชดเชยให้ฉากหน้า (ที่เราต้องการให้เป็นสีดำ)สว่างขึ้น และอาจทำให้ฟ้าที่เราต้องการจะให้เป็นสีสวย ๆ กลายเป็นสีขาวไปเลย

วิธีการวัดแสงที่ดีที่สุดคือการเลือกวัดแสงเฉพาะจุด โดยเลือกวัดบริเวณที่ฟ้าเป็นสีแดง, หรือสีม่วง ซึ่งก็คือจุดรอบ ๆ พระอาทิตย์กำลังจะขึ้น หรือหลังพระอาทิตย์ตกนั่นเอง เพราะจุดนั้นเป็นจุดที่ต้องการให้แสงพอดีนั่นเอง

สำหรับปัจจุบันเราสามารถดูผลงานได้ทันทีจากหน้าจอของกล้อง Digital แต่ถ้าเรารู้วิธีการที่ถูกต้องและเข้าใจเรื่องวัดแสงแล้ว ก็จะทำให้เราถ่ายภาพได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว เพราะช่วงที่ฟ้าสวยงามก่อนหรือหลังพระอาทิตย์ตกนั้น เป็นช่วงเวลาที่สั้นมากและแต่ละวันก็สวยไม่เหมือนกัน หากคุณเสียเวลากับการตั้งค่าที่ไม่ถูกต้องแล้วอาจพลาดโอกาสที่จะเก็บภาพงาม ๆ ไปเลยก็ได้


3 Comments

  1. Suphasuk

    ขอบคุณค่ะกำลังหาเทคนิคถ่ายภาพพระอาทิตย์ตก อ่านมาหลายที่แล้ว blogนี้เขียนได้ชัดเจนเข้าใจง่ายดีมากค่ะ 🙂

  2. Junthapa Thahong

    ขอบคุณค่ะ…จะพยามยามไปฝึก

  3. beebah

    มีประโยชน์มากเลยค่ะ ขอบคุณม้ากมาก
    bookmark ไว้แล้ว จะกลับมาอ่านต่อนะคะ
    ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ