Select Page

ถ่ายภาพน้ำตกให้พริ้วไหว

waterfall1.jpg

น้ำตกในเมืองไทยนั้นมีมากมายหลายแห่ง   เพื่อน ๆหลายคนที่ไปเที่ยวน้ำตกแล้วถ่ายภาพมา ปรากฎว่าเห็นเป็นหยด ๆ หรือไม่ก็มืด ๆ ไม่สวยเหมือนที่เคยเห็นใน post card คงจะสงสัยว่าเขาถ่ายอย่างไรจึงได้ภาพแบบนั้น  จะยากไหม? มาติดตามกันครับ

การถ่ายภาพน้ำตกให้ดูเป็นสายนุ่มนวลสวยงามนั้น  มีหลักการจากการให้กล้องเปิดรับแสงให้นานกว่าปกติ (ปกติแล้วกล้องจะใช้เวลาในการรับแสงสั้นมากเพียงเสี้ยววินาที ทำให้เมื่อถ่ายภาพน้ำตก  จะกลายเป็นภาพน้ำหยดแทน)  เมื่อเปิดรับแสงนานกล้องก็จะบันทึกการเดินทางของน้ำ  เป็นภาพของสายน้ำที่อ่อนช้อยสวยงามอย่างที่เราเห็นใน post card นั่นเอง … แล้วจะทำอย่างไรให้กล้องเปิดรับแสงนานกว่าปกติล่ะ?  

view-penpop.jpg

สำหรับคนที่ใช้กล้อง SLR ที่สามารถปรับตั้งความเร็วชัตเตอร์ได้  ให้ตั้งความเร็วชัตเตอร์ที่ประมาณ 1/2 – 1/8 วินาที  แล้วแต่ความแรงของสายน้ำ  ส่วนรูรับแสงก็ปรับให้สัมพันธ์กับความเร็วชัตเตอร์ (ควรจะประมาณ f8-f16) ทั้งนี้เมื่อเปิดรับแสงเป็นเวลานาน (ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ) สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือขาตั้งกล้องนั่นเอง  เพื่อป้องกันภาพสั่นไหว  หากเข้าตาจนไม่มีขาตั้งกล้องจริงๆ ก็หาหิน หากิ่งไม้ใช้แทนก็ได้ครับ แต่ระวังกล้องตกน้ำก็แล้วกัน อิอิ

ผู้ที่ใช้กล้อง compact ก็ไม่ต้องน้อยใจครับ  ลองพยายามหาโหมดที่ทำให้เราเลือกความเร็วชัตเตอร์ได้ (บางยี่ห้อเรียก mode S)  หรือถ้าหาไม่เจอจริง ๆ ก็ใช้โหมด night scene ที่มักมีสัญญลักษณ์เป็นรูปดาวหรือพระจันทร์ก็ได้ครับ  จะให้ผลที่ใกล้เคียงกัน

flower3.jpg

ถ้าสังเกตุดูโขดหินและใบไม้ซึ่งมักจะเป็นองค์ประกอบของการถ่ายภาพน้ำตก  มักจะมีแสงสะท้อนออกมาจากทั้งสองวัตถุนี้ ทำให้สีของภาพไม่อิ่มตัว  เพื่อน ๆ ที่ใช้กล้อง SLR สามารถใช้ filter polarizing เพื่อตัดแสงสะท้อนเหล่านี้ออกไปได้  ซึ่งจะทำให้ภาพมีสีสันสดใสอิ่มตัวขึ้นอีกมากทีเดียว  และประโยชน์ทางอ้อมอีกอย่างก็คือความเข้มของ filter ตัวนี้จะช่วยลดแสงลงทำให้สามารถถ่ายภาพโดยใช้ชัตเตอร์ต่ำดังที่ผมกล่าวมาแล้วได้อย่างไม่มีปัญหาครับ

Tips :
1. เนื่องจากน้ำตกมีสีขาว จึงมักจะหลอกเครื่องวัดแสง ทำให้กล้องรับแสงน้อยดูมืดและหม่นหมองกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นควรชดเชยแสงให้ over ประมาณ 1-2 stop เพื่อให้ภาพไม่ดูมืดจนเกินไป หรืออาจเลือกวัดแสงเฉพาะจุดจากบริเวณที่มีใบไม้สีเขียวแถว ๆ นั้นก็ได้ แล้วตั้งความเร็วชัตเตอร์ กับรูรับแสงแบบ manual ตามค่าที่วัดได้เลย สำหรับการชดเชยแสงนั้นต้องพิจารณาองค์ประกอบรอบข้างด้วย ถ้ามีโขดหินสีดำมาก ๆ ก็อาจจะหลอกเครื่องวัดแสงไปในทางตรงกันข้ามด้วยเช่นกัน ดังนั้นควรลองถ่ายอย่างน้อย 3 ภาพที่รับแสงต่าง ๆ กันเพื่อนำมาเลือกภาพที่ดีที่สุดครับ
2. หลีกเลี่ยงการใช้ flash เพราะจะไปสะท้อนกับสายน้ำ ทำให้ภาพดูแล้วไม่นุ่มนวลครับ
3. น้ำตกบางแห่งโดยเฉพาะน้ำตกขนาดใหญ่จะมีละอองน้ำมาก ขอให้ช่างภาพทุกคนระมัดระวังการถ่ายภาพด้วยนะครับ เพราะนอกจากสถานที่ถ่ายภาพอาจจะลื่นแล้ว ละอองน้ำอาจเข้าไปในกล้องและสร้างความเสียหายชนิดที่คาดไม่ถึงได้
4. ถ้าน้ำตกอยู่ในร่ม ภาพที่ได้บางครั้งสีจะออกไปในโทนน้ำเงิน สามารถแก้ไขให้สีดูอบอุ่นได้ โดยเลือกโหมด white balance (เฉพาะกล้อง Digital) ที่ใช้ภ่ายภาพในร่มหรือถ่ายภาพในวันที่มีเมฆเยอะนะครับ ส่วนใหญ่สัญลักษณ์จะเป็นรูปเมฆ  ภาพที่ได้จะมีสีสันที่สมจริงมากยิ่งขึ้น
5. หลีกเลี่ยงการถ่ายภาพน้ำตกที่มีทั้งส่วนที่แสงแดดส่อง และบางส่วนอยู่ในที่ร่มในภาพเดียวกัน เพราะกล้องจะไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้จากทั้งสองส่วน ถ้าเป็นได้ให้เลือกมุมเพื่อถ่ายภาพเป็นส่วน ๆ จะได้ภาพที่สวยงามกว่าครับ

ได้ทราบเทคนิคการถ่ายภาพน้ำตกไปแล้ว  หากถ่ายภาพมาสวย ๆ ก็อย่าลืมนำมาอวดกันนะครับ 🙂